นักวิจัยของ Mayo Clinic ในสหรัฐอเมริกาพบความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอมภายในลำไส้กับการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อันอาจนำไปสู่แนวทางใหม่ในการป้องกันการลุกลามของโรคนี้ได้ในอนาคต
ผลงานวิจัยของ ดร. Jaeyun Sung นักชีววิทยาเชิงคอมพิวเตอร์ของศูนย์การแพทย์เฉพาะบุคคลของ Mayo Clnic ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Genome Medicine และ วารสาร Annals of the Rheumatic Diseases เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2024 หลังจากที่เขาและทีมวิจัยใช้เวลากว่า 15 เดือน ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของไมโครไบโอมในลำไส้ในกลุ่มอาสาสมัครผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จำนวน 124 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้เสี่ยงเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 30 คน ผู้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้แล้ว จำนวน 7 คน และกลุ่มที่มีสุขภาพดี 22 คน ทีมวิจัยพบว่า จุลินทรีย์ในลำไส้ทั้งแบคทีเรีย และเชื้อราบางชนิด มีต่อการเกิดและลุกลามของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ดร.Christopher Rooney นักวิจัยจาก Leeds Institute of Medical Research ของมหาวิทยาลัย Leeds เป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นแกนหลักของงานวิจัยนี้ ได้กล่าวว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และแทบจะไม่มีวิธีในการป้องกันโรคนี้ได้เลย สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ พบสัญญาณบางอย่างในเลือดของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่บ่งชี้ว่า การอักเสบอาจเริ่มต้นจากนอกข้อต่อกระดูก เช่น ลำไส้ โดยไมโครไบโอมในลำไส้จะมีปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดเวลา ระดับแอนติบอดีต่อโปรตีนซิทรูลลิเนต (anti-CCP) ในไมโครไบโอมของลำไส้ต่ำสามารถบ่งชี้ระดับอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ แอนติบอดีเหล่านี้มักอยู่ในเลือดเนิ่นนานก่อนที่อาการเบื้องต้นของโรคนี้จะปรากฏ เช่น อาการปวดข้อหรือข้อตึง ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ แบคทีเรียในลำไส้บางชนิด เช่น สายพันธุ์ Prevotellaceae sp (ASV2058) แบคทีเรีย Prevotella copri ในลำไส้อาจเป็นตัวการสำคัญต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย
จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2020 มีผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 17.6 ล้านคนทั่วโลก และภายในปี 2050 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 31.7 ล้านคน นักวิจัยยังไม่อาจสรุปสาเหตุที่แท้จริงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่พันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การสูบบุหรี่ และโรคอ้วนมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ ดร.Rooney กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญเพราะจะเปิดประตูสู่การเฝ้าระวังการเกิดโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และช่วยให้เราสามารถหาวิธีที่มีประสิทธิภาพขึ้นในการชะลอหรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินของโรคต่อไปได้
แหล่งข้อมูล : https://newsnetwork.mayoclinic.org/discussion/mayo-researchers-link-gut-microbiome-to-rheumatoid-arthritis-prognosis/