ภาวะโลกร้อน-เอเลี่ยนสปีชีส์-สัตว์สูญพันธุ์ ทำให้ ‘โรคระบาด’ รุนแรงมากขึ้น

By กฤตพล สุธีภัทรกุล14 พ.ค. 2024 เวลา 15:51 น.

 


Key  Points


 - งานวิจัยพบว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางเคมี การรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น


- ระดับความรุนแรงของโรคและจำนวนการเสียชีวิตจากโรคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากมนุษย์เลวร้ายกว่าโรคเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกือบ 9 เท่า


- ในขณะนี้สัตว์และแมลงพาหะนำโรค เช่น ยุงและเห็บ สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนโลกที่ร้อนยิ่งขึ้นจาก “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ต่างจากสัตว์อื่น ๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์เพราะภาวะโลกร้อน เหล่าปรสิตและเชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากการปรับตัวเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด


“โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน” กลายเป็นกลุ่มโรคที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจุบัน 3 ใน 4 ของโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์เป็นที่มีสัตว์เป็นพาหะทั้งสิ้นรวมไปถึงโรคไข้หวัดหมูและไข้หวัดนก H5N1 ที่เพิ่งระบาดไปเมื่อไม่นานนี้เช่นกัน และดูเหมือนความรุนแรงของโรคในระยะหลังจะรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม งานวิจัยล่าสุดพบว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โรคระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น


ยิ่งมนุษย์ทำให้สภาพแวดล้อมของโลกเสื่อมโทรมลงมากเท่าไหร่ พวกเรากำลังสร้างโอกาสให้เกิด “โรคระบาด” เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้สัตว์และแมลงพาหะนำโรค เช่น ยุงและเห็บ สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนโลกที่ร้อนยิ่งขึ้นจาก “การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ต่างจากสัตว์อื่น ๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์เพราะภาวะโลกร้อน เหล่าปรสิตและเชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จากการปรับตัวเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด


นอกจากนี้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร และการแพร่พันธุ์ของเอเลี่ยนสปีชีส์ล้วนทำให้ “ระบบนิเวศ” สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้ประชากรที่รอดชีวิตมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น ตามข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature


งานวิจัยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ศึกษาว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมดสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้อย่างไร การศึกษาครั้งนี้ได้รวบรวมการศึกษาเกือบ 1,000 ฉบับ เกี่ยวกับปัจจัยขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อครอบคลุมทุกทวีป ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา โดยศึกษาทั้งความรุนแรงและความชุกของโรคในพืช สัตว์ และมนุษย์ ตลอดจนเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา


ทีมงานมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลก 5 ประการ ได้แก่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางเคมี การรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย


โลกยิ่งร้อน “เชื้อโรค” ยิ่งแพร่เร็ว
ผลการศึกษาพบว่า ปรสิตเหมาะกับการอยู่อาศัยในโลกที่ร้อนขึ้นมากกว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตใด ๆ เจสัน โรห์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดมและหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า โลกที่ร้อนขึ้นและการทำลายธรรมชาติของมนุษย์จะทำให้ปรสิตและเชื้อโรคสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ


หากโรคระบาดแพร่กระจายมากขึ้นในหมู่สรรพสัตว์ และมีโอกาสสัตว์เหล่านั้นจะนำเชื้อโรคใหม่ ๆ มาสู่มนุษย์ได้ ดังเช่นที่เคยนำเชื้อไวรัสโควิด-19 ไข้หวัดหมูและไข้หวัดนก H5N1 แพร่มาสู่มนุษย์


นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทำให้เราเพิ่มความเสี่ยงของการระบาดใหญ่ในอนาคต แม้ว่าผลการวิจัยจะดูน่ากลัว แต่เน้นย้ำว่าการกระทำเพื่อปกป้องโลกสามารถช่วยลดการเกิดโรคระบาดได้เช่นกัน


“งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยเพิ่มเหตุผลว่าทำไมเราจำเป็นต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วที่สุด และพยายามบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เฟลิเซีย คีซิง ศาสตราจารย์จากแบรดคอลเลจ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้ กล่าว


ความหลากหลายทางชีวภาพมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยพื้นที่ที่มีจำนวนสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตมากที่สุดคือบริเวณพื้นที่ระดับความสูงปานกลางใกล้เส้นศูนย์สูตร


นักวิจัยได้วัดผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากมนุษย์ต่อโรคต่าง ๆ ด้วยการเปรียบเทียบการสังเกตรูปแบบการติดเชื้อทั่วโลกกับความชุกของโรคโดยเฉลี่ย ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งพบว่าโดยธรรมชาติแล้วความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงสัมพันธ์กับการลดลงของโรค แต่ถ้ามนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น


นักวิจัยพบว่าระดับความรุนแรงของโรคและจำนวนการเสียชีวิตจากโรคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากมนุษย์เลวร้ายกว่าโรคเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกือบ 9 เท่า


การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ความหลากหลายทางชีวภาพสามารถป้องกันโรคได้ด้วยตามทฤษฎี “Dilution Effect” ที่กล่าวว่า ปรสิตและเชื้อโรคอาศัยการมีโฮสต์มากมายเพื่อความอยู่รอด จะพัฒนาไปเพื่อสนับสนุนสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไป มากกว่าที่จะเป็นพันธุ์ที่หายาก


โรห์กล่าวว่า เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สัตว์หายากมักจะสูญพันธุ์ไปก่อน นั่นหมายความว่า สายพันธุ์ที่ยังคงอยู่คือสายพันธุ์ที่สามารถแพร่โรคได้ดีมาก


นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเข้ามาของเอเลี่ยนสปีชีส์เชื่อมโยงกับการทำให้โรคแย่ลงกว่าเดิม แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็ตาม


การขยายตัวเมืองช่วยบรรเทาโรคระบาด
การวิเคราะห์พบตัวแปรหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้จริง นั่นคือ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเพราะการขยายตัวของเมืองจะทำให้ประชาชนมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัยและสุขภาพที่ดีขึ้น และพบกับธรรมชาติลดน้อยลง


“เขตเมืองมีแต่ตึกคอนกรีตจำนวนมาก ทำให้มีสิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมนี้ไม่มากเท่ากับพื้นที่ธรรมชาติ ดังนั้น ในเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัยดีกว่าก็จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าในชนบท” โรห์กล่าว


อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาอย่างกว้าง ไม่ใช่สามารถใช้เป็นตัวแทนของเชื้อโรคและการติดเชื้อได้ทั้งหมด สกายลาร์ ฮอปกินส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ไม่ใช่ปรสิตทุกชนิดจะไม่ดี และไม่มีใครรู้ว่าหากความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไปจะช่วยลดจำนวนโรคลงได้จริง


ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ต่อยอดจากการค้นพบในอดีตที่เชื่อมโยงโรคติดเชื้อเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ตัวอย่างเช่น ความร้อนจัดและการเกิดหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียเพิ่มสูงขึ้น และอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า


อีกทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมีส่วนทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคต่าง ๆ เช่น โควิด-19 เอชไอวี/เอดส์ อีโบลา และกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส แต่นักวิจัยจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมว่ามนุษย์มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร


 

 


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bangkokbiznews.com/environment/1126725