หนทางใหม่ต่อการบำบัดอาการ Tinnitus

รูปที่ 1 Designed by Freepik 

14% ของประชากรโลก หรือประมาณ 750 ล้านคน เป็นโรคหูอื้อ หรือ Tinnitus ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้บางคนได้ยินเสียงแหลมหรือเสียงทุ้มต่อเนื่อง บางคนได้ยินเสียงหึ่งๆ เสียงซ่าๆ เสียงเหมือนจิ้งหรีด หรือเสียงตึบๆ ตามจังหวะชีพจร เสียงเหล่านี้ไม่ได้มาจากภายนอก แต่เป็นผลจากการสูญเสียการได้ยิน (hearing loss) ที่มาจากหลายสาเหตุ รวมทั้งประสาทหูชั้นในเสื่อมสภาพ พลังงานเสียงไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทที่ดีได้ สมองจะทำงานหนักขึ้นเพื่อขจัดความผิดปกติจากการรับกระแสประสาทที่มีความผิดเพี้ยนหรือไม่ครบถ้วน เสียงรบกวนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนการได้ยินสัญญาณผิดปกตินั้น บางคนจึงได้ยินเสียงรบกวนดังในหูตลอด 24 ชั่วโมง อาจเกิดขึ้นกับหูข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็เป็นไปได้ อาการนี้ไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพจิตด้วย ซึ่งมักก่อให้เกิดอาการเครียดหรือภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคหูอื้อติดต่อกันนานหลายเดือนหรือหลายปี จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคหูอื้อนี้ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องหาวิธีจัดการ หรือรักษาอาการให้ดีขึ้นเอง

รูป 2 Designed by Freepik 

ปฏิสัมพันธ์ของสมองกับ Tinnitus
บทความปริทัศน์ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Brain Communicaitons เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2022 นำเสนออีกแง่มุมเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์การทำงานระหว่างอาการ Tinnitus กับการทำงานของสมองระหว่างการนอนหลับ รวมถึงวงจรการหลับและตื่นซึ่งอาจจะนำไปสู่การพัฒนาวิธีบำบัดอาการ Tinnitus ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
Tinnitus จัดอยู่ในลักษณะการรับรู้เทียม (phantom perceptions) หรือกลไกของสมองทำงานตอบสนองจากการที่เราคิดว่ามองเห็น ได้ยิน หรือได้กลิ่น ทั้งที่สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง คนส่วนใหญ่ประสบกับการรับรู้แบบหลอกๆ ตอนหลับเท่านั้น แต่สำหรับคนที่มีอาการ Tinnitus จะได้ยินเสียงหลอนเหล่านั้นขณะตื่นด้วย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งคือ Tinnitus ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อการทำงานของสมอง โดยบางส่วนของสมอง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินที่อาจทำงานมากกว่าที่ควรจะเป็น
การนอนหลับมีหลายช่วง ช่วงสำคัญที่สุดคือ slow-wave sleep หรือการหลับลึก ซึ่งถือเป็นช่วงการนอนหลับพักผ่อนที่ดีที่สุด การทำงานของสมองจะขับเคลื่อนเหมือน "คลื่น" กระจายผ่านส่วนต่างๆ ของสมอง รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและการประมวลผลเสียง นักวิจัยเชื่อว่า slow-wave sleep ช่วยให้เซลล์ประสาทของสมอง โดยเฉพาะส่วนที่รับและส่งข้อมูล ได้รับการฟื้นฟูจากการสึกหรอในแต่ละวัน ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการนอนหลับทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย จึงถือว่ามีความสำคัญต่อความทรงจำสำหรับเราด้วย
แต่บางครั้งพื้นที่สมองบางส่วนอาจทำงานมากเกินไปในระหว่างการนอนหลับลึก ส่งผลให้เกิดการนอนหลับผิดปกติ เช่น การเดินละเมอ ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับผู้ที่มีอาการ Tinnitus บริเวณสมองซึ่งทำงานมากกว่าปกติอาจยังคงตื่นตัวขณะหลับ หลายคนที่มีอาการ Tinnitus จึงมีปัญหาการนอนหลับผิดปกติและอาการฝันผวาบ่อยกว่าคนปกติทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังใช้เวลาในช่วงหลับตื้น (light sleep) มากขึ้น เพราะสมองของผู้ป่วย Tinnitus ไม่อาจทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการนอนหลับลึกได้ กระบวนการในการนอนของพวกเขาจึงถูกรบกวน
แม้ว่าผู้ป่วย Tinnitus จะหลับลึกน้อยกว่าคนทั่วไป แต่บางช่วงของการนอนหลับลึกกลับไม่ได้รับผลกระทบจากอาการ Tinnitus เลย อาจเป็นเพราะการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับลึกที่สุดไประงับอาการ Tinnitus ได้ 2 วิธีที่สมองสามารถระงับภาวะหูอื้อระหว่างการนอนหลับลึกได้ นักวิจัยพบว่า เซลล์ประสาทของสมองที่ทำงานหนักในช่วงการตื่นเป็นเวลานาน จะปรับเข้าสู่โหมดการทำงานเพื่อให้เกิดการหลับลึก นั่นก็เพื่อจะทำการฟื้นฟูตัวเอง ยิ่งมีเซลล์ประสาทในโหมดนี้รวมกันมากเท่าไร การขับเคลื่อนของสมองส่วนที่เหลือเพื่อให้เกิดการหลับลึกก็มีมากขึ้นตามไปด้วย และไม่ก่อให้เกิดการรบกวนและขัดขวางการนอนหลับ นักวิจัยจึงเชื่อว่า นี่เป็นวิธีที่ทำให้อาการ Tinnitus อาจถูกระงับลงได้ คนที่มีอาการ Tinnitus บางคนจึงสามารถนอนหลับลึกได้
แนวทางศึกษาวิธีบำบัด Tinnitus ในอนาคต
ความรุนแรงของอาการ Tinnitus อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงนี้ระหว่างการนอนหลับจึงอาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการหาวิธีจัดการใหม่ๆ กับการทำงานของสมองเพื่อลดความรุนแรงของอาการ Tinnitus ได้โดยตรง นักวิจัยเชื่อว่า อาการ Tinnitus ที่รบกวนการนอนหลับอาจบรรเทาเบาบางลงได้จากการนอนหลับลึก งานวิจัยในอนาคตจึงอาจต้องหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาระยะต่างๆ ของการนอนหลับและการบันทึกข้อมูลการทำงานของสมองที่ก่อให้เกิดอาการ Tinnitus ควบคู่กันไป เพื่ออาศัยกลไกการทำงานของสมองตามธรรมชาติในการบำบัดอาการอย่างมีประสิทธิผลต่อไป
Lenire อีกทางเลือกในการบรรเทาเสียงรบกวนในหู
บริษัท Neuromod Devices ที่ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับโลกและมีสิทธิบัตร 136 ฉบับทั่วโลก พัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Lenire ซึ่งเป็นอุปกรณ์บรรเทาเสียงดังในหูสำหรับผู้ป่วย Tinnitus เครื่องแรกที่ผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) อุปกรณ์นี้มีส่วนที่เป็นสายนำกระแสไฟฟ้าต่อเชื่อมกับแผ่นสแตนเลสที่ทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้จะต้องอมไว้ในปากเพื่อให้ขั้วไฟฟ้าแตะลิ้น ก่อนที่อุปกรณ์จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีหูฟังที่เล่นโทนเสียงหลายแบบและเสียงคลื่นทะเล โดยการทดลองทางคลินิกทั้ง 3 ระยะ ปรากฏว่าผู้ป่วย Tinnitus ที่เข้าร่วมการทดลองถึง 84% มีอาการเสียงดังในหูลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากพวกเขาใช้อุปกรณ์นี้วันละ 1 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์
นาง Victoria Banks นักร้องและนักแต่งเพลงในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอาการ Tinnitus มานาน 3 ปี ทำให้เธอร้องเพลงและฟังเพลงได้อย่างยากลำบาก ร่างกายก็ทรุดโทรมลงด้วย เธอเคยลองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ไม่ได้ช่วยให้เสียงในหูหายไป การออกกำลังกายมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรเช่นกัน แต่การทดลองใช้อุปกรณ์ Lenire นี้ทำให้เสียงน่ารำคาญในหูแทบจะหายไปหมด และเธอกลับไปฟังเพลง เขียนเพลง และแสดงดนตรีได้ตามปกติอีกครั้ง
Dr.Brian Fligor นักโสตสัมผัสวิทยา หนึ่งในทีมพัฒนา Lenire ยืนยันว่า การทำงานของอุปกรณ์เป็นการดึงความสนใจของสมองออกไปจากเสียงหึ่งๆ ในหู แม้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่รักษาอาการ Tinnitus ได้ 100% สำหรับทุกคน แต่ก็ถือว่าดีกว่าวิธีอื่นๆ ที่ใช้จัดการกับอาการหูอื้อในปัจจุบัน ส่วนราคาของอุปกรณ์ Lenire ในสหรัฐอเมริกา ตกที่ประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 136,000 บาท
ส่วนนาย Bruce Freeman นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการหูอื้อ กล่าวว่า เขาได้รับประโยชน์อย่างมากจากอุปกรณ์ Lenire เพราะเสียงที่เล่นผ่านหูฟังของอุปกรณ์ทำให้จิตเขาสงบลงจนแทบจะเกือบเหมือนการถูกสะกดจิต และเชื่อว่าถ้าเขาไม่ใช้อุปกรณ์นี้ อาการ Tinnitus จะแย่ลงเรื่อยๆ และที่สำคัญเขาใช้วิธีการว่ายน้ำมาช่วยอีกทางหนึ่ง เขากล่าวว่า ช่วงเวลาที่เกิดเสียงน้ำขณะไหลเข้าไปในหูเป็นหนึ่งในวิธีฝึกสติที่ดี ไม่ให้เขามัวแต่ไปสนใจกับเสียงที่แว่วอยู่ในหูอยู่ตลอดเวลา
Oasis เจเนอเรชั่นล่าสุดของ Neuromonics
Oasis เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาอาการ Tinnitus ผลิตโดยบริษัท Neuromonics และรุ่นล่าสุดของ Oasis ผ่านการจดสิทธิบัตรและการรับรองจาก FDA ให้สามารถใช้งานกับผู้ที่มีอาการ Tinnitus ขั้นรุนแรงได้ ทางบริษัท Neuromonics ยังได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกองทัพสหรัฐฯ ที่เน้นโครงการวิจัยทางการแพทย์สำหรับช่วยเหลือทหารที่มีอาการหูอื้อ เนื่องจากมีทหารผ่านศึกมากกว่า 34% ของทั้งหมดที่กลับมาจากอิรักและอัฟกานิสถานต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการ Tinnitus หลังจากเผชิญกับสถานการณ์สู้รบที่มีเสียงดังสนั่นต่อเนื่องหรือบ่อยครั้ง ถึงแม้ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่พวกเขาต้องการวิธีที่จะบรรเทาเสียงที่รบกวนตลอดเวลา
สำหรับนักโสตสัมผัสวิทยาที่ต้องการนำอุปกรณ์ Oasis ไปใช้กับผู้ป่วยต้องผ่านการอบรมพิเศษ เพื่อสามารถปรับการใช้งานให้สอดคล้องกับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ตามมาตรฐานการบำบัดที่เรียกว่า Neuromonics Tinnitus Treatment (NTT) โดยภายในอุปกรณ์จะมีการบันเสียงเสียงดนตรีที่ให้ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย พร้อมกับกลไกที่ใช้กระตุ้นเซลล์เส้นประสาทซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับการรับรู้อาการ Tinnitus เสียงดนตรีจะได้รับการปรับให้เหมาะกับประสบการณ์การรับฟังดนตรีของผู้ใช้แต่ละคน และจะส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกระบวนการเปลี่ยนแปลงข้ามระบบประสาท เมื่อเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยให้สมองคัดกรองการรับรู้อาการ Tinnitus ลดเสียงรบกวน และบรรเทาอาการได้ในระยะยาว อุปกรณ์ Oasis มีขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่าย ทำหน้าที่เหมือนกับเครื่องเล่นเพลงทั่วไปที่คุ้นเคย และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วยได้อย่างง่ายดาย
นาย Curtis Amann รองประธานฝ่ายการตลาดและการขายของ Neuromonics กล่าวว่า นักโสตสัมผัสวิทยาและผู้ป่วย Tinnitus สามารถใช้อุปกรณ์นี้ได้สะดวกง่ายดายขึ้น ผู้เชี่ยวชาญสามารถเขียนโปรแกรมคำสั่งสำหรับ Oasis ผ่านทางแพลตฟอร์ม NOAH (แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์มาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับเครื่องช่วยฟัง/การติดตั้งอุปกรณ์) ระบบสามารถประมวลผลแบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องส่ง audiograms ผ่านมายังบริษัท Neuromonics ฟีเจอร์เกี่ยวกับการควบคุมความสมดุลในการได้ยินและระดับเสียงของดนตรีจึงทำได้รวดเร็วและง่ายขึ้น


 

แหล่งข้อมูล :


 https://hearingreview.com/hearing-loss/patient-care/neuromonics-debuts-next-generation-oasis-device-treat-tinnitus


 https://www.npr.org/sections/health-shots/2024/04/15/1244501055/tinnitus-hearing-loss-ringing-ear-noise#:~:text=There%27s%20no%20cure%2C%20but%20there%20are%20a%20range,treat%20tinnitus%20using%20electrical%20stimulation%20of%20the%20tongue.


 https://theconversation.com/tinnitus-seems-linked-with-sleep-understand-how-could-bring-us-closer-to-finding-a-cure-182711


 https://www.sciencealert.com/tinnitus-seems-to-be-somehow-linked-to-a-crucial-bodily-function


 


รูปภาพ :https://www.freepik.com/free-vector/realistic-anatomy-ear-tinnitus-composition-with-sound-internal-organs-view-with-pointers-editable-text-captions-vector-illustration_37441509.htm#fromView=search&page=1&position=0&uuid=9f7ffb32-2f68-4472-b9cf-488ea9c33e72