แพทยสภาจัดงานวันสถาปนาครบรอบ 52 ปี 9 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมสิริวัฒนภักดี อาคารสภาวิชาชีพจัดเสวนา “ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย” และพิธีสำคัญมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปี 2563 พร้อมมอบตู้สะพานบุญ และพระพุทธรูป ภปร.ปางประทานพรให้โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ 98 แห่ง
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวในโอกาสแสดงความยินดีวันสถาปนาแพทยสภาครบรอบ 52 ปี ว่า มีประเด็นที่ต้องการแบ่งปัน 2 เรื่อง
เรื่องแรก คือ ความสำเร็จของแพทยสภาในช่วง 52 ปีที่ผ่านมา
ข้อที่ 1 เป็นความสำเร็จที่ไมใช่เฉพาะการทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลและเพิ่มคุณภาพของวงการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้นแพทยสภายังเป็นองค์กรสภาวิชาชีพตัวอย่าง และทำให้ประเทศไทยได้มีองค์กรวิชาชีพและสภาวิชาชีพเกิดขึ้นมาอีกหลายๆ วิชาชีพ ทำให้ความเป็นนักวิชาชีพสุขภาพของไทยโดยรวมก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับสากล และทุกวิชาชีพต้องเสริมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ข้อที่ 2 สิ่งสำคัญที่แพทยสภาได้ทำคือ การเน้นว่าวิชาชีพการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเป็นความตายของคน จะต้องมีศีลธรรมจริยธรรมมากำกับความรู้ ความรู้ที่ได้พัฒนามา 52 ปี ซึ่งเป็นความรู้ที่ก้าวหน้าอย่างมาก เรียกว่า explosive knowledge advancement จะต้องเป็นความรู้ที่กำกับด้วยคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้ความรู้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ
ข้อที่ 3 ถึงแม้แพทยสภาจะมองความสำคัญในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ แต่ในความเป็นจริงแพทยสภาได้นำความรู้ความเจริญลงไปสู่แพทย์ผู้ให้บริการและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทในชุมชนที่ห่างไกล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเด่นมาก
เรื่องที่ 2 คือสถานการณ์หลังจากครบรอบปีที่ 52 เป็นต้นไป ตั้งแต่ต้นปี 2563 เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งทดสอบระบบการแพทย์และสาธารณสุขทั้งของไทยและของทุกประเทศทั่วโลก เมื่อโรคระบาดครั้งนี้ผ่านไป 8-9 เดือน เราสามารถบอกได้ค่อนข้างแม่นว่าปัจจัยหลายอย่างในประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารงานสาธารณสุขของไทยช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ จนได้รับการยกย่องว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ดำเนินการได้ดีมาก แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในลำดับที่ 1 หรือ 2 ประโยชน์จะต้องอยู่กับประชาชนคือคนไทย
ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ที่ดาวอสได้ตั้งโจทย์เกี่ยวกับระบบการแพทย์และสาธารณสุขของโลกซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อรับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลว่าถ้ามีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้น โครงสร้างการแพทย์และสาธารณสุขของแต่ละประเทศจะรับมือได้หรือไม่ บังเอิญโลกไม่ได้มีโรคระบาดใหญ่มาท้าทายนับตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918-1919 แม้จะมีโรค Merck, SARs หรือ Ebola แต่ไม่ใช่การระบาดใหญ่ มาถึงวันนี้ แม้เราจะมีมาตรฐานการแพทย์ในคลินิกในโรงพยาบาลที่ดีมาก แต่แพทยสภาอาจจะต้องมองอีกว่า เรายังมีสิ่งที่ท้าทายหลังโควิด (post covid) อีกมากมาย
ประเด็นที่ 1 วันนี้เมื่อมองถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขไปข้างหน้า อดไม่ได้ที่จะคิดว่า เราคงต้องทำงานด้านการแพทย์ให้แม่นยำขึ้น ประหยัดขึ้น และได้ประโยชน์กว้างขึ้น อย่างที่เราใช้คำว่า precision medicine หรือ precision healthcare ซึ่งตอนนี้มนุษย์มีเครื่องมือต่างๆ มีทั้งautomation และ AI ที่จะช่วยให้ขั้นตอนต่างๆ ของการตรวจรักษาแม่นขึ้น ผิดพลาดน้อย และมีประสิทธิภาพ (efficiency) มากขึ้น จึงต้องจัด automation และ AI เข้ามาอยู่ในหลักสูตรของการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มาก
ประเด็นที่ 2 คือการแพทย์ในอนาคตจะเป็นการแพทย์ที่ลงทุนมากขึ้น เราจะต้องนึกถึง human concern นึกถึงคนทุกระดับ มิฉะนั้น จะแก้ปัญหาของคนจนได้อย่างไร
ประเด็นที่ 3 โควิดได้บอกเราว่า เราจะรักษาเชื้อไวรัส แบคทีเรียในโรงพยาบาลในชุมชนอย่างไร เพราะเชื้อโรคมาจากสัตว์เลี้ยงบ้าง สัตว์ในป่าบ้าง ดังนั้นเรื่องที่จะต้องใส่ใจ (concern) กับสิ่งแวดล้อมได้มีอยู่ในหลักสูตรการแพทย์หรือไม่ การเป็นแพทย์จะเอาเฉพาะเรื่องในคลินิกหรือโรงพยาบาลเท่านั้นหรือ เราอาจจะต้องมองไปที่สิ่งแวดล้อมด้วยว่า จะทำอย่างไร อาชีพของเราจึงจะใช้ความรู้และทัศนคติที่ดีลงมือร่วมกับประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยรักษาโลกใบนี้ให้น่าอยู่มากขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่ได้มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เป็นสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภาด้วยและได้เข้าประชุมคณะกรรมการแพทยสภาหลายครั้ง รวมทั้งพยายามที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยได้เจริญรุดหน้า และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี
แพทยสภาทำให้ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มอีกหลายคน เพราะมีโอกาสได้ไปเรียนในหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่เข้ารับการอบรม และทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ช่วยให้สามารถประสานงานกันและสร้างสิ่งที่ดีมีคุณค่าต่อประเทศของเราได้
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องพึ่งพาแพทยสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่มีสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการที่จะป้องกันให้มีความปลอดภัยและช่วยกันเฝ้าระวังสอดส่องไม่ให้มีการแพร่เชื้อระบาดจากต่างประเทศ ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมในการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าไม่มีแพทยสภาที่คอยผลิตแพทย์และให้การรับรองมาตรฐานสาขาวิชาการต่างๆ โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โอกาสที่จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนคงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย นอกจากนั้นความร่วมมือในการป้องกันโควิดได้ช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ด้วยเช่น วัณโรค และโรคทางเดินหายใจอื่น และการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ยังช่วยให้โรคท้องร่วง โรคทางเดินอาหารอื่นๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย ในนามของกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องขอบคุณคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวเปิดงานวันสถาปนาแพทยสภา ครบรอบ 52 ปี ว่า ในการก่อตั้งแพทยสภา แพทย์อาวุโสในอดีตต้องพยายามด้วยความเหนื่อยยากมากกว่าจะตั้งแพทยสภาได้ กรรมการผู้ใหญ่ในคณะกรรมการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2507 เห็นว่ามีเนติบัณฑิตยสภาและคุรุสภาแล้ว จึงมีความคิดที่ต้องการจะให้มีแพทยสภา และได้พิจารณาให้มีการศึกษาการจัดตั้งแพทยสภาขึ้นมา แต่ดำเนินการไม่สำเร็จ เพราะมีอุปสรรค จนมาตั้งเป็นแพทยสภาได้สำเร็จในปี 2511 ซึ่งแพทยสภาได้รับความกรุณาจากกระทรวงสาธารณสุขมาตลอด ให้มีสำนักงานอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ครั้งแรกที่วังเทวะเวสม์ และย้ายมาที่กระทรวงสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่อาคารสภาวิชาชีพ โดยได้รับความกรุณาจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยนั้น และในสมัยนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันยังคงช่วยเหลือแพทยสภาต่อไป
วัตถุประสงค์ของการจัดงานครบรอบ 52 ปี เพื่อทำบุญที่ทำการแพทยสภา เนื่องจากได้ย้ายมาอยู่ตึกสภาวิชาชีพตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และจัดพิธีมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นแพทยสภาให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ แสดงความชื่นชมยินดีต่อคุณงามความดีของแพทย์และเพื่อแสดงความขอบคุณอดีตนายกแพทยสภา อดีตกรรมการ และเลขาธิการแพทยสภา หลายรุ่นที่ผ่านมา 52 ปี ที่ได้ช่วยกันดำเนินกิจการของแพทยสภามาจนทุกวันนี้ และจัดงานเสวนา “ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย”เล่าถึงชำระประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย โดยมี นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล ประธานคณะทำงานประวัติศาสตร์การแพทย์ไทย ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ นพ.สรรใจ แสงวิเชียร และ คุณวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ หัวหน้างานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศิริราช เป็นคณะทำงานช่วยกันดำเนินการอยู่ในคณะทำงานฯ ที่แพทยสภาแต่งตั้ง
เชิดชูเกียรติแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปี 2563
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นแพทยสภา ประจำปีพุทธศักราช 2563 ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภาได้อนุมัติแพทย์ดีเด่นจำนวน 4 ท่าน แยกตามประเภทกลุ่มงาน ดังนี้
1. แพทย์ดีเด่นกลุ่มแพทย์ผู้บริหาร พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2529 วุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์ แพทยสภา ปี 2535 พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์เป็นผู้ที่มีเมตตาธรรม มีคุณธรรมและดำรงอยู่ในจริยธรรมอันดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความทุ่มเทและตั้งใจทำงานเพื่อองค์กร จากการที่เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีวิสัยทัศน์ ทำงานเป็นระบบแบบมีคุณภาพ เข้าถึงได้ รับฟังปัญหา กล้าตัดสินใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วง ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเชื่อมั่น และให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นทีม เพื่อองค์กรเป็นอย่างดี
กล่าวได้ว่า พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ เป็นผู้บริหารที่นำพา ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี และเป็นผู้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับระบบงาน ร.พ. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น e-referal system, paperless medicine เป็นต้น ทำให้ ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดชสามารถให้การบริการกับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี จนเป็น ร.พ.ต้นแบบทางด้านสารสนเทศให้กับ ร.พ.ข้างเคียงมาศึกษาดูงาน และในเวลาเดียวกันยังปฏิบัติภารกิจสนับสนุนด้านการแพทย์ให้กับกองทัพอากาศได้อย่างดีเต็มความสามารถ และเป็นบุคคลสำคัญในการนำพา ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดชเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลขั้นก้าวหน้า
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บริหารที่เข้าใจและให้ความสำคัญในการพัฒนาคน ทำให้คนมีสมรรถนะและความสามารถที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน โดยโครงการที่สำคัญในปัจจุบันของ พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ มุ่งหวังที่จะให้ ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช เป็น Lean hospital ภายใต้Lean culture ของคนในองค์กร สามารถกล่าวได้ว่า พล.อ.ต.นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ คือ ผู้บริหารที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในทุกๆ ด้านของร.พ.ภูมิพลอดุลยเดชในช่วงเวลากว่า 20 ปี
2. แพทย์ดีเด่นกลุ่มอาจารย์แพทย์ ศ. นพ.อภิชาต จิตต์เจริญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2528 และได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติ-นรีเวชศาสตร์ แพทยสภา ปี 2534 ศ.นพ.อภิชาต เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างสูง สามารถเป็นแบบอย่างได้อย่างดี มีอัธยาศัยและมนุษยสัมพันธ์ อ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความเคารพนบนอบต่ออาจารย์อาวุโสอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มีความยุติธรรมและมีเหตุผล ปฏิบัติตัวดี จนเป็นที่ยอมรับและรักใคร่ของผู้ร่วมงานทุกท่าน ที่สำคัญ ท่านเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ เอาใจใส่ต่องานโดยเฉพาะงานด้านการเรียนการสอนที่ได้รับมอบหมายอย่างดียิ่งและเต็มความสามารถ สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่อาจารย์รุ่นน้องและนักศึกษาแพทย์ได้ อุทิศตนให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงในการดูแลผู้ป่วยให้กับนักศึกษาแพทย์ นอกจากนี้ยังเป็นเป็นวิทยากรให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ มีความเชี่ยวชาญสูงและมีชื่อเสียงในสาขาวิชาชีพด้านนี้ เป็นที่ปรึกษาในการผ่าตัดรักษาและแก้ไขปัญหาในสาขาวิชานี้และเป็นที่พึ่งพาของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
มีผลงานทางวิชาการมากมาย มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นที่ลงพิมพ์ทั้งวารสารในประเทศและระดับนานาชาติเป็นที่ประจักษ์จำนวนมากเรื่อง รวมทั้งเขียนตำราวิชาการที่สามารถนำไปอ้างอิงได้ และอุทิศตนทำงานด้านการพัฒนางานวิจัยมาตลอด ช่วยปรึกษา แก้ไขและเสนอแนะการทำวิจัย ตลอดจนการเตรียมผลงานวิจัยเพื่อลงตีพิมพ์ให้กับอาจารย์แพทย์ นอกจากนี้ท่านยังเคยเป็นบรรณาธิการวารสารรามาธิบดีสาร และเป็น reviewer บทความวิชาการทั้งวารสารในประเทศและต่างประเทศหลายฉบับ
จากการที่ได้ทำงานด้วยความรับผิดชอบสูง ประกอบกับมีความรู้และความสามารถในการบริหารงาน ทั้งยังจัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบทั้งด้านการสอน งานวิชาการ งานวิจัย งานบริหาร และการให้บริการผู้ป่วย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงได้รับโอกาสรับตำแหน่งเป็น รองคณบดี และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ทั้งภายในคณะแพทย์เองและนอกคณะแพทย์ อาทิ แพทยสมาคม แพทยสภา และราชวิทยาลัยสูติฯ ผลงานเหล่านี้ได้สร้างชื่อให้กับมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติซึ่งนับว่าเป็นอาจารย์แพทย์ที่เป็นต้นแบบได้เป็นอย่างดี
3. แพทย์ดีเด่นกลุ่มแพทย์ผู้ปฏิบัติงานทั่วไป นพ.จรัส วัชรประภาพงศ์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศัลยกรรมประสาท กลุ่มงานศัลยกรรม ร.พ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2524 ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาประสาทศัลยศาสตร์ แพทยสภา พ.ศ. 2531 นพ.จรัสดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี มีครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งเป็นกำลังใจและเข้าใจในบริบทของประสาทศัลยแพทย์ที่ต้องทำงานหนักในภาระของงานในช่วงระยะเวลาเกือบ 30 ปี เป็นแพทย์ผู้ใหญ่ที่มีอัธยาศัยดี เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมวิชาชีพ มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นที่เคารพนับถือรักใคร่ของผู้ร่วมงานทุกระดับ มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้สร้างสรรค์ให้ผู้ร่วมงานมีความสามัคคี สร้างแรงบันดาลใจให้ร่วมกันทำงานเป็นทีม จนสร้างหน่วยศัลยกรรมประสาทให้มีความก้าวหน้า
หลังจากจบการศึกษาแพทย์ประจำบ้าน สาขาประสาทศัลยศาสตร์ นพ.จรัสได้บรรจุเป็นประสาทศัลยศาสตร์คนแรกของ ร.พ.พระพุทธชินราช ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในเขตสุขภาพที่ 2 ของภาคเหนือตอนล่าง มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยทางระบบประสาทใน จ.พิษณุโลกและจังหวัดข้างเคียงอีก 4-5 จังหวัด และทำงานในสาขานี้ต่อเนื่องโดยไม่โยกย้ายไปไหนตลอดเวลาเกือบ 30 ปี ในระยะแรก นพ.จรัสต้องทำงานคนเดียว ต่อมาในระยะหลังจึงมีประสาทศัลยแพทย์มาเสริมทีมจาก 2 คน เป็น 5 คน ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดการเรียนการสอนชั้นคลินิกของนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผ่านมา ที่หน่วยศัลยกรรมประสาทและทำการสอนแสดงสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาแพทย์มีความสนใจที่จะเลือกเรียนสาขาวิชานี้
เป็นที่ทราบดีในหมู่แพทย์ว่าประสาทศัลยแพทย์ทำงานหนักกว่าแพทย์สาขาอื่นและต้องทำผ่าตัดผู้ป่วยในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากอุบัติเหตุทางสมองมักเกิดในเวลากลางคืนและรอไม่ได้ ต้องได้รับการแก้ไขทันที ซึ่งแต่ละรายจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 - 3 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ นพ.จรัสไม่เคยท้อแท้ต่อความลำบาก กลับพัฒนาขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยในฐานะศูนย์กลางการแพทย์ภาคเหนือตอนล่างอย่างต่อเนื่อง จนสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ทางระบบประสาทได้เกือบทั้งหมด ไม่ต้องส่งต่อไปยังเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯซึ่งลดภาระความลำบากและเป็นที่พึ่งพาของผู้ป่วย นับเป็นตัวอย่างที่ดีของแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
4. แพทย์ดีเด่นกลุ่มผู้อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลน่าน ปัจจุบันเป็นรองประธาน ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยจบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2520 และได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูตินรีเวชศาสตร์ แพทยสภา พ.ศ. 2527 นพ.พิษณุเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงาม มีมนุษยสัมพันธ์และอัธยาศัยดี แฝงด้วยรอยยิ้ม มีความเป็นกันเองในหมู่ผู้ร่วมงาน จึงเป็นที่รักใคร่ของบุคลากรในโรงพยาบาล แต่มีความแน่วแน่ กล้าตัดสินใจ และเสียสละเพื่อลูกน้องในการทำงานเพื่อคุณธรรมนับเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับข้าราชการไทยจนได้รับคำกล่าวอ้างว่า “ท่านเป็นผู้นำที่เราเชื่อมั่น”
นพ.พิษณุได้รับช่วงต่อในการพัฒนา ร.พ.น่าน ให้เป็นโรงพยาบาลคุณธรรม สร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าในการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ สามารถเป็นที่พึ่งพาได้เมื่อยามป่วยไข้ และได้อุทิศตนในการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุขให้ประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ในหลายๆ ด้าน อาทิ โครงการรณรงค์สวมหมวกกันน็อกโครงการพัฒนาคุณภาพการบริการ เป็นต้น
มีผลงานทางหนังสือวิชาการด้านสุขภาพ (Health care) ที่สอดแทรกการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งแพทย์สามารถนำไปปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี โดยมีแนวคิดที่ว่าการดูแลคนไข้ด้วยหัวใจ บนการสื่อสารที่ดี สร้างความเห็นอกเห็นใจ จะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ และมีผลงานบรรยายทางวิชาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมสุขภาพมากมาย และได้รับเชิญให้ไปบรรยายทั่วประเทศหลายๆ ครั้งในรอบปีต่อเนื่องกัน ทั้งก่อนและหลังเกษียณอายุราชการ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนมากมาย เนื่องจากมีเทคนิคการบรรยายที่ไม่เบื่อ แต่ได้สอดแทรกเนื้อหาทางวิชาการ ด้วยความมุ่งมั่นว่าเพื่อแทนคุณแผ่นดิน ด้วย slogan ที่ว่า “ผมจะไปทุกที่เพื่อสร้างคนดีให้กับแผ่นดิน”
จากคุณงามความดีและผลงานต่างๆ ทำให้ท่านได้รับการกล่าวนามว่าเป็น “คนดีศรีเมืองน่าน” และได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ รางวัลข้าราชการดีเด่น สูตินรีแพทย์ดีเด่น รางวัลแห่งความภูมิใจของสมาคมศิษย์เก่า มช. บุคคลต้นแบบด้านผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น