กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 50 แห่ง ให้เป็นต้นแบบการดำเนินงาน 4D ทั่วประเทศ ได้แก่ ด้านโภชนาการ และการเจริญเติบโต (Diet) ด้านพัฒนาการ (Development & play) ด้านทันตสุขภาพ (Dental) และ 4) ด้านการป้องกันโรค (Diseases)
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการส่งเสริมคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านสุขภาพ ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการดูแลเด็กปฐมวัยแบบองค์รวม โดยจัดทำโครงการส่งเสริมคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวทางในการดูแลเด็กด้านสุขภาพ ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งในปี 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 50 แห่ง ให้เป็นต้นแบบการดำเนินงาน 4D ทั่วประเทศ ประกอบด้วยหลัก 4D ได้แก่ 1) ด้านโภชนาการและการเจริญเติบโต (Diet) จัดทำเมนูอาหารสำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อใช้ทั่วประเทศ 2) ด้านพัฒนาการ (Development & play) ครูผู้ดูแลเด็กสามารถเฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการเด็กด้วยเครื่องมือ DSPM ได้ พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการเล่นอิสระ (3 F : Family Free Fun) ในเด็กปฐมวัย 3) ด้านทันตสุขภาพ (Dental) เด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกคนต้องแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และมีกิจกรรมตรวจประเมินสุขภาพช่องปากเด็ก และ 4) ด้านการป้องกันโรค (Diseases) ครูผู้ดูแลเด็กสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาดเหมาะสม เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเฉพาะการสอนให้เด็กรู้จักล้างมือ สวมหน้ากาก และจัดกิจกรรมแบบ small group เพื่อลดการสัมผัสโรค
ทางด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรุงเทพมหานคร จัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ซึ่งจากการประเมินด้วยมาตรฐานดังกล่าวพบว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ประมาณร้อยละ 30 จากจำนวน 25,678 แห่ง ยังไม่ผ่านมาตรฐาน ดังนี้ 1) เด็กมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุ และสูงดีสมส่วนต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 38.3 จำนวน 7,242 แห่ง 2) เด็กมีพัฒนาการสงสัยล่าช้า โดยรวม 5 ด้าน มากกว่าร้อยละ 25 จำนวน 6,868 แห่ง 3) เด็กมีฟันผุ มากกว่าร้อยละ 60 จำนวน 2,549 แห่ง และ 4) พบไม่มีแผนและดำเนินการตรวจสุขอนามัยประจำวัน ตรวจสุขภาพประจำปี และป้องกันควบคุมโรคติดต่อ จำนวน 480 แห่ง ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับคุณภาพของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย