กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีการสั่งอาหารเดลิเวอรี (Delivery) อย่างปลอดภัย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เน้นปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง รับประทานอาหารปรุงสุก เพื่อให้ปลอดภัยและห่างไกลจากโควิด-19
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดใหม่ หลายคนหันมาสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี (Delivery) แทนการไปจับจ่ายซื้ออาหารจากตลาดนัด หรือห้างสรรพสินค้ากันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโควิด-19 กรมอนามัยจึงแนะนำ 4 ข้อป้องกัน ดังนี้
1) ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เมื่อไปส่งอาหารให้ลูกค้าขอให้ใช้วิธีการส่งอาหารแบบ Personal distancing ยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น
2) ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรีร้านอาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารปรุงสำเร็จ ต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 5 นาที หลีกเลี่ยงการจำหน่ายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
3) ผู้ขนส่งอาหารเดลิเวอรีต้องลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้านอาหาร ก่อนและหลังการส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้ออาหารด้วย รวมทั้งหลังเข้าห้องส้วม หลังจับสิ่งสกปรก หรือจับเงิน และคอยสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
4) ผู้สั่งซื้ออาหารหรือผู้บริโภคให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหารและควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน
“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่สั่งอาหารแบบเดลิเวอรีงดรับช้อนส้อมพลาสติกเพื่อลดการสัมผัสและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในคราวเดียวกัน โดยหันมาใช้อุปกรณ์ที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ช้อนหรือส้อมที่บ้านแทน และก่อนที่จะทิ้งขยะพลาสติกก็ควรคัดแยกเศษอาหารออกก่อนเพื่อสามารถนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้อีก เป็นการลดโรคและรักษ์โลกไปพร้อม ๆ กัน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว