สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สปสช. ลงพื้นที่พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีตรวจรหัสพันธุกรรมแก่บุคคลผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 90 ราย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เผยตั้งแต่ปี 2558 มีการตรวจ DNA มีการดำเนินการปีละประมาณ 1,600 ราย
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยที่มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียนในพื้นที่ อ.สังขละบุรี อ.ท่าม่วง อ.เมืองกาญจนบุรีและอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งหมดกว่า 90 ราย ให้เข้ามาทำการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA) พร้อมกับจัดกิจกรรมสื่อสารเพื่อให้คนไทยที่ไร้สิทธิในพื้นที่เข้าสู่กระบวนการค้นหาหลักฐาน เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 ณ ที่ว่าการอำเภอท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานเพื่อการพัฒนาสุขภาวะคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนของ 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้การทำงานของภาคประชาชนเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียน มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครองที่ช่วยตรวจสอบสืบค้นข้อมูลเพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคลเป็นอย่างดี กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ก็ผลักดันให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ เช่น จัดหารถรับ-ส่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ DNA และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ช่วยตรวจ DNA จนนำมาสู่การพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งหลังจากนี้ทางเครือข่ายภาคประชาชนก็จะได้ช่วยประสานงานให้ได้รับสิทธิบัตรทองเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ คือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน ตาม พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ 2559 ซึ่งการตรวจ DNA จะมีประเด็นในเรื่องของบุคคลยากไร้ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลไม่ได้รับสิทธิทั่วไปตามในฐานะประชาชนคนไทย ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงได้จัดหางบประมาณมาดำเนินการตรวจ DNA ให้โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการดำเนินการปีละประมาณ 1,600 ราย ซึ่งนอกจากการตรวจที่ส่วนกลางแล้ว สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังจัดทีมออกตรวจ DNA ในภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย โดยจะพิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมารวบรวมวิเคราะห์ว่ามีจำนวนมากพอสมควรแล้วจัดแผนในการเดินทางไปตรวจพื้นที่ ดังเช่นการเดินทางมาให้บริการตรวจ DNA ในพื้นที่ อ.ท่าม่วง ในครั้งนี้
นายฑรัท เหลืองสะอาด นายอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ต้องขอขอบพระคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าทางกระทรวงมหาดไทย สปสช. กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ที่ช่วยกันทำให้การทำงานคล่องตัวและสามารถทำให้การบริการประชาชนทั่วถึง โดยในส่วนของอำเภอท่าม่วงเองก็มีเป้าหมายทำให้ประชาชนได้มีความเสมอภาคและพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ลดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ พร้อมกับการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส
"อีกด้านยังมีนายหน้าเรียกค่านำพา ค่าจัดการ ค่าออกเอกสารการรับรองต่าง ๆ ทางอำเภอขอยืนยันว่าไม่มีการเรียกเก็บเกินความเป็นจริง หากเป็นผู้ยากไร้เราจะประสานขอยกเว้นค่าตรวจ DNA ให้อยู่แล้ว ทั้งยังประสานสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม. จังหวัดกาญจนบุรี ให้ช่วยดำเนินการช่วยเหลือสงเคราะห์อื่น ๆ ดังนั้น อยากสื่อสารให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องสถานะทางทะเบียนมาขอคำแนะนำในการยื่นพิสูจน์สิทธิและทำเอกสารยื่นเรื่องได้ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งได้ด้วยตนเอง” นายฑรัท กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองกว่า 47.5 ล้านคน ได้ครอบคลุม 99.88% แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพขั้นพื้นฐาน สปสช. จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เครือข่ายประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนค้นหาคนกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบปัญหาว่าไม่มีบัตรประชาชนมาแสดงตน จึงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการลงนาม MOU การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนของ 9 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้ได้รับบริการจากรัฐและช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้แคบลงมากยิ่งขึ้น
“สำคัญที่สุด คือ การนำคนไทยที่ไร้สิทธิในพื้นที่มาให้ได้รับการตรวจอัตลักษณ์ DNA นับว่าเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างของ “ความเหลื่อมล้ำ” ให้แคบลง เพราะได้เกิดการบูรณาการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ต่างหน่วยงาน ต่างทำหน้าที่สอดประสานงานตามภารกิจที่ได้ตกลงใน MOU ที่ท่านอนุทินได้ร่วมลงนาม จึงเปรียบเสมือนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนไทยที่เคยตกหล่นจากสังคม” ทพ.อรรถพร กล่าว