ก้าวใหม่ที่ท้าทายของการรักษามะเร็งการประชุมประจำปีของสมาคมวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา

สมาคมวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาจัดการประชุมประจำปีทางออนไลน์สำหรับปีนี้ระหว่างวันที่ 10 ถึง 15 เมษายน 2021 มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลก ทั้งนักวิทยาศาสตร์ ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง แพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ๆ ผู้ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม และผู้สนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็ง การประชุมได้เน้นความก้าวหน้าล่าสุดในการรักษา การบริหารจัดการ และป้องกันโรคมะเร็ง  มีผลการค้นพบใหม่ที่สำคัญและน่าสนใจหลายเรื่อง
Cancer Aneuploidy อาจพยากรณ์การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก
            ข้อมูลจากรายงานชิ้นหนึ่งที่เสนอในระหว่างการประชุมกล่าวว่า cancer aneuploidy ในระดับต่ำมีความสัมพันธ์กับผลการรักษาที่ดีขึ้นหลังจากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กได้รับ immune checkpoint inhibition

          “cancer aneuploidy ซึ่งเป็นภาวะที่จำนวนของโครโมโซมในเซลล์มะเร็งไม่สมดุลกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วไปในโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer: NSCLC) และมีความสัมพันธ์กับการส่งสัญญาณภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม นัยสำคัญในเชิงการทำงานของ aneuploidy ยังคงไม่ชัดเจน” João Alessi, M.D. แห่ง Dana-Farber Cancer Institute ในบอสตัน ผู้เขียนรายงานนำเสนอ กล่าว
          แม้จะมีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการพยากรณ์ เช่น การแสดงออกของโปรตีน PD-L1 และจำนวนการกลายพันธุ์ในก้อนเนื้องอก แต่ผู้ป่วย NSCLC น้อยกว่าร้อยละ 50 ตอบสนองต่อการยับยั้ง immune checkpoint ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องหาตัวบ่งชี้เพิ่มเติมเพื่อระบุผู้ป่วยที่มีโอกาสตอบสนองต่อการรักษา
          ในการศึกษานี้ นพ. Alessi และคณะผู้ร่วมงานได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง cancer aneuploidy และการตอบสนองต่อ anti-PD1/PD-L1 immune checkpoint inhibition ในผู้ป่วยที่เป็น NSCLC  ในการวิเคราะห์ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย 279 คน ซึ่งได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ และมีการหาลำดับเบสของเนื้องอกด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ (next-generation sequencing)  มีการให้คะแนน aneuploidy score กับก้อนเนื้องอก ซึ่งกำหนดด้วยจำนวนทั้งหมดของแขนโครโมโซมที่เปลี่ยนแปลงไปภายในเซลล์ ตั้งแต่คะแนน 0 ถึง 39 (0 คือ ไม่มีแขนโครโมโซมที่เปลี่ยนแปลง,  39 คือ มีการเปลี่ยนแปลงในแขนโครโมโซมที่ตรวจทั้งหมด)

          คณะผู้วิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีการตอบสนองทั้งหมดหรือบางส่วนต่อ immune checkpoint inhibition มีคะแนน aneuploidy ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้ที่โรคมีความคงที่หรือลุกลามมากขึ้น (ค่ามัธยฐานคะแนน aneuploidy เท่ากับ 4 เทียบกับ 7)  ผู้ป่วยที่มีคะแนน aneuploidy น้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 มีอัตราการตอบสนองโดยรวมสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 43.0 เทียบกับร้อยละ 19.8) มีการรอดชีวิตโดยโรคสงบ (progression-free survival) นานกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (6.2 เดือน เทียบกับ 2.9 เดือน) และมีการรอดชีวิตโดยรวมนานกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (19.8 เดือน เทียบกับ 13.8 เดือน) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีคะแนน aneuploidy มากกว่า 2
         คะแนน aneuploidy มีความสัมพันธ์กับการรอดชีวิตโดยโรคสงบ (ไม่มีการดำเนินโรค) และการรอดชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะได้ปรับปัจจัยอื่น ๆ แล้ว เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย, การกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (oncogenic driver mutation), การแสดงออกของ PD-L1, จำนวนการกลายพันธุ์ของเนื้องอก และลำดับกระบวนการรักษา  หลังจากปรับปัจจัยต่าง ๆ แล้ว ผู้ป่วยที่มีคะแนน aneuploidy ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 2 มีโอกาสเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และร้อยละ 36 ในการรอดชีวิตโดยโรคสงบและการรอดชีวิตโดยรวมตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีคะแนน aneuploidy มากกว่า 2
         นพ. Alessi และคณะผู้ร่วมงานยังพบว่า เนื้องอกที่มีคะแนน aneuploidy ต่ำมีจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันเป็นบวกสูงกว่าสำหรับ CD8, Foxp และ PD-1  การมีอยู่ของตัวบ่งชี้การอักเสบเหล่านี้แสดงว่า เนื้องอกที่มีคะแนน aneuploidy ต่ำ อาจมีความสามารถในการกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน (immunogenic) ได้มากกว่าเนื้องอกที่มีระดับ aneuploidy สูงกว่า ซึ่งสามารถช่วยให้มีการตอบสนองเพิ่มขึ้นต่อ immune checkpoint inhibition  คะแนน aneuploidy ไม่มีความสัมพันธ์กับการแสดงออกของ PD-L1 หรือจำนวนการกลายพันธุ์ของเนื้องอก ซึ่งแสดงว่า คะแนน aneuploidy ทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้อิสระทางชีวภาพในการพยากรณ์
         “จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วของการทดสอบโมเลกุลที่แนะนำสำหรับ NSCLC การหาลำดับเบสด้วยวิธีการใหม่จะให้โอกาสสำหรับการประเมิน aneuploidy” นพ. Alessi กล่าว “การรวมคะแนน aneuploidy ในการทดสอบโมเลกุลอาจช่วยในการตัดสินใจสำหรับการรักษาและการออกแบบการทดลองทางคลินิกได้”
         ข้อจำกัดของการศึกษาครั้งนี้ คือ เป็นการวิเคราะห์กรณีศึกษาแบบย้อนหลังจากศูนย์รักษามะเร็งแห่งเดียว  นพ.Alessi กล่าวเตือนว่า จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมจากการศึกษาแบบมองไปข้างหน้า เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่นักวิจัยสังเกตพบและกำหนดเกณฑ์คะแนน aneuploidy ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพยากรณ์การตอบสนอง ข้อจำกัดอื่น ๆ ได้แก่ ความบริสุทธิ์ของตัวอย่างและการขาดวิธีการมาตรฐานในการวัด aneuploidy  นพ. Alessi บอกว่า ได้คัดตัวอย่างที่มีความบริสุทธิ์ต่ำออกจากการวิเคราะห์ครั้งนี้
การกลายพันธุ์ก่อโรคซึ่งพบได้ยากปรากฏในมะเร็งเด็ก neuroblastoma ที่ครอบครัวไม่มีประวัติ
           ผู้ป่วยเด็กที่เป็น neuroblastoma ที่ไม่มีประวัติของโรคในครอบครัว มีการกลายพันธุ์ของยีนที่มีแนวโน้มก่อโรคมะเร็ง ซึ่งได้รับการสืบทอดและมีความสัมพันธ์กับผลการรักษาที่แย่ลง

          Neuroblastoma เป็นโรคมะเร็งในเด็กที่เกิดจากระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) โดยประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ป่วยทั้งหมดมีประวัติของโรคในครอบครัว และจัดเป็น  neuroblastoma ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม  พญ.Emily Blauel, M.D., แพทย์หญิงจาก Children’s Hospital of Philadelphia ผู้นำเสนอรายงานกล่าว  ในกรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยมักจะมีการกลายพันธุ์ในเซลล์ถ่ายทอดพันธุกรรมก่อโรค (pathogenic germline mutation) ในยีน ALK หรือ PHOX2B
         ผู้ป่วยกรณีที่เหลือซึ่งเป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ คาดว่าป่วยเป็นมะเร็งที่ไม่มีประวัติของโรคในครอบครัว พญ. Blauel กล่าว ขณะที่การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ประเมินว่า ประมาณร้อยละ 8-10 ของผู้ป่วยเด็กจากโรคมะเร็งทุกชนิดมีการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดพันธุกรรมก่อโรค หรือมีโอกาสก่อโรคซึ่งพบได้ยากในยีนที่มีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มเอียงต่อการเกิดโรคมะเร็ง (cancer predisposition gene) โดยส่วนใหญ่เราไม่ทราบถึงอัตราความสามารถในการถ่ายทอดการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดพันธุกรรม เนื่องจากมีข้อมูลจากบิดามารดาที่จำกัด  
         “แม้จะมีการศึกษาก่อนหน้านี้ออกมามากมายก็ตาม  แต่การศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่า การกลายพันธุ์ทั้งหลายของยีนได้รับการถ่ายทอดในครอบครัวหรือไม่ เพราะมีข้อมูลพันธุกรรมทางบิดามารดาอยู่จำกัด” พญ. Blauel อธิบาย
         ด้วยการสนับสนุนจาก Gabriella Miller Kids First Program (ซึ่งนำโดย นพ. John Maris, M.D. และ Dr. Sharon Diskin, Ph.D.) และด้วยการร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ Dr. Zalman Vaksman, Ph.D.  พญ. Blauel และผู้ร่วมงานได้ดำเนินการจัดลำดับจีโนมทั้งหมดของ DNA ของเซลล์สืบพันธุ์ จากผู้ป่วย neuroblastoma 556 คน และบิดามารดาผู้ให้กำเนิดคนใดคนหนึ่ง หรือทั้ง 2 คน
         การศึกษาครั้งนี้ได้รวบรวมลำดับจีโนมทั้งหมด (whole genome sequencing: WGS) จากผู้ป่วย 457 คน และจากทั้งบิดามารดาผู้ให้กำเนิด และจากผู้ป่วย 99 คน พร้อมกับบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่ง มีการจัดลำดับของคู่ DNA และ RNA ของเนื้องอกด้วย รวมทั้งลำดับจีโนมทั้งหมดของตัวอย่าง DNA เนื้องอก 336 ตัวอย่าง การจัดลำดับ exome ทั้งหมดของตัวอย่าง DNA เนื้องอก 326 ตัวอย่าง และลำดับ RNA ของเนื้องอก  207 ตัวอย่าง
         การวิเคราะห์ได้พบการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคหรือมีโอกาสก่อโรค ในยีนที่มีแนวโน้มเอียงก่อมะเร็งจากผู้ป่วย 90 คน หรือร้อยละ 16 ของกลุ่มผู้ป่วย มีข้อมูลจัดลำดับจากบิดามารดาผู้ให้กำเนิดในผู้ป่วย 85 คน ซึ่งแสดงว่าร้อยละ 94 ของการกลายพันธุ์ในเซลล์ถ่ายทอดพันธุกรรมที่พบมีการถ่ายทอดทางสายเลือด โดยมีการกระจายที่เท่ากันระหว่างการสืบทอดทางมารดาและการสืบทอดทางบิดากับมารดา มีการค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน ALK แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ของ PHOX2B
        “การศึกษาขนาดใหญ่ช่วยให้เราสามารถระบุการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคซึ่งพบได้ยาก และเป็นครั้งแรกที่เราได้ประเมินว่า การกลายพันธุ์เหล่านี้มาจากการถ่ายทอดในครอบครัวหรือเป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่” พญ. Blauel กล่าวและว่า “ผลจากการศึกษานี้มีความหมายมากต่อผู้ป่วยและครอบครัว และอาจจะช่วยในการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรมได้”
         “มีการสังเกตพบการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคหรือมีโอกาสก่อโรคในยีนที่เราทราบว่ามีแนวโน้มเกิดโรคมะเร็งหลายยีน รวมทั้ง CHEK2, BARD1 และ NSD1 ซึ่งแสดงว่าการกลายพันธุ์เหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง neuroblastoma” พญ. Blauel กล่าวอธิบาย  ยังมีการสังเกตพบการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคหรือมีโอกาสก่อโรคใน DNA ของเนื้องอกในผู้ป่วย ซึ่งมีข้อมูลการจัดลำดับสารพันธุกรรมในเนื้องอก
         นอกจากนั้น การมีอยู่ของการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคหรือมีโอกาสก่อโรคในยีนที่มีแนวโน้มก่อมะเร็ง ยังมีความสัมพันธ์กับผลการรักษาที่แย่ลงด้วย ได้แก่ โอกาสที่น้อยลงสำหรับการมีชีวิตรอด 10 ปี โดยไม่มีเหตุการณ์ดำเนินโรค (ร้อยละ 66.9 เทียบกับร้อยละ 79.7) และการรอดชีวิตโดยรวม 10 ปี (ร้อยละ 76.5 เทียบกับร้อยละ 89.4) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าว
        ความสัมพันธ์ที่พบดังกล่าว แสดงว่า เราจำเป็นต้องประเมินพันธุกรรมในผู้ป่วย neuroblastoma ให้ละเอียดมากกว่าที่ทำในปัจจุบันตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล” พญ.Blauel กล่าวให้ข้อสังเกต  ปัจจุบัน พญ. Blauel, Dr.Vaksman และคณะผู้ร่วมงานกำลังศึกษาว่าทำไมบิดามารดาที่มีการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคหรือมีโอกาสก่อโรคถึงไม่เป็นโรคมะเร็ง neuroblastoma  ขณะที่การศึกษานี้เน้นการกลายพันธุ์ในยีนที่มีแนวโน้มก่อมะเร็งซึ่งเรารู้จักกันแล้ว เราควรจะประเมินว่า การกลายพันธุ์ก่อโรคในยีนอื่น ๆ หรือในพื้นที่ของจีโนมที่ไม่ได้ให้รหัสมีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของ neuroblastoma และผลการรักษาหรือไม่
        แผนการศึกษาในอนาคตจะมีการขยายการวิเคราะห์จีโนมอย่างทั่วถึง ส่วนข้อจำกัดของการศึกษานี้ คือ เราไม่ทราบว่าการกลายพันธุ์ของเซลล์ถ่ายทอดสารพันธุกรรมก่อโรคหรือมีโอกาสก่อโรคที่เราพบในการศึกษานี้มีความเกี่ยวข้องเชิงหน้าที่กับมะเร็ง neuroblastoma อย่างไร การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก National Institutes of Health

          ให้ยา Nivolumab ก่อนผ่าตัดและเคมีบำบัดเพิ่มอัตราตอบสนองที่สมบูรณ์ในการทดลองรักษามะเร็งปอด
          การเพิ่มยา nivolumab (Opdivo) ให้กับเคมีบำบัดเพื่อการรักษาก่อนการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC) ที่สามารถผ่าตัดได้ ช่วยให้มีอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยาแบบสมบูรณ์ (pathological complete response: pCR, ผลลัพธ์หลัก (primary endpoint)) ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 24 เทียบกับร้อยละ 2.2 ในกลุ่มที่ได้รับเคมีบำบัดอย่างเดียว  โดยการใช้ยาสูตรผสมไม่ทำให้ความเป็นพิษโดยรวมเพิ่มขึ้นหรือเกิดการล่าช้าต่อการผ่าตัด ทั้งตามข้อมูลจากการทดลอง CheckMate-816 ซึ่งเป็นการทดลองแบบสุ่มเฟสที่ III  
         “การรักษาตามมาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งปอดที่ผ่าตัดได้ คือ การผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกออก แม้จะใช้วิธีนี้แล้ว แต่ผู้ป่วยหลายคนยังกลับมาเป็นโรคมะเร็งปอดอีก และเมื่อกลับมาเป็นอีก โดยปกติจะไม่สามารถรักษาได้” นพ. Patrick Forde รองศาสตราจารย์ ที่ Sidney Kimmel Comprehensive Cancer Center และ Bloomberg~Kimmel Institute for Cancer Immunotherapy แห่ง Johns Hopkins University กล่าว
         “เคมีบำบัดกลุ่ม platinum (platinum-based chemotherapy) ที่ให้กับผู้ป่วย ไม่ว่าจะให้ก่อน (neoadjuvant) หรือหลัง (adjuvant) การผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตเป็นเวลา 5 ปี ได้เพียงร้อยละ 5
         “เป็นครั้งแรกในการทดลองเฟส III ที่เราได้เห็นศักยภาพของภูมิคุ้มกันบำบัด anti-PD-1 ที่ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นใน NSCLC ระยะเริ่มแรก ได้เห็นผลที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยาแบบสมบูรณ์ (pCR) ความทนต่อการรักษาโดยรวม และไม่มีผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในการผ่าตัด เมื่อเพิ่มยา nivolumab เพื่อเสริมการให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด” รศ.Forde กล่าว
         “ข้อมูลที่รวบรวมได้ถึงปัจจุบันจากการศึกษาแบบย้อนหลังหลายชิ้นแสดงถึงแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ผู้ป่วยที่มีอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยาแบบสมบูรณ์ด้วยเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด มีชีวิตอยู่นานกว่าผู้ที่ไม่มีการตอบสนองดังกล่าว”
         ในการทดลอง CheckMate-816 มีการสุ่มให้ผู้ใหญ่ที่เป็น NSCLC ระยะ 1b-3a ที่สามารถผ่าตัดได้ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงการกระตุ้นในยีน EGFR หรือ ALK ให้ได้รับยา nivolumab บวกกับเคมีบำบัด platinum-doublet chemotherapy (ผู้ป่วย 179 คน) หรือได้รับเคมีบำบัดอย่างเดียว (ผู้ป่วย 179 คน) ตามด้วยการผ่าตัด โดยกำหนด pCR ว่าไม่มีเนื้องอกก่อโรคเหลืออยู่ เมื่อได้ตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดที่ถูกตัดออกมาและต่อมน้ำเหลืองภายหลังการผ่าตัด
         การทดลองบรรลุผลลัพธ์หลักด้วยการใช้ยา nivolumab บวกกับเคมีบำบัด ซึ่งเพิ่มอัตรา pCR ถึงร้อยละ 24 เทียบกับร้อยละ 2.2 จากการใช้เคมีบำบัดอย่างเดียว  ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นนี้ปรากฏอย่างสม่ำเสมอในกลุ่มย่อยทุกกลุ่ม รวมทั้งระยะที่เป็นโรค, ชนิดย่อยของ NSCLC, สถานะ PD-L1, ขนาดการกลายพันธุ์ของก้อนมะเร็ง ทั้งในผู้ป่วยชายและหญิง
         การใช้ยาสูตรผสมยา nivolumab กับเคมีบำบัดยังเพิ่มอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยาที่สำคัญ (เนื้องอกและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอดไม่เกินร้อยละ 10) ถึงร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับร้อยละ 8.9 ในกลุ่มที่ได้รับเคมีบำบัดอย่างเดียว
         ในกลุ่มที่ได้รับยา nivolumab กับเคมีบำบัด พบว่า มีผู้ป่วยร้อยละ 83 ได้รับการผ่าตัด เทียบกับร้อยละ 75 ของผู้ป่วยที่ได้รับเฉพาะเคมีบำบัด  “ที่น่าสังเกต คือ แม้จะเพิ่มยา nivolumab ให้กับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด แต่ไม่พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้เลื่อนการผ่าตัดหรือยกเลิกการผ่าตัดมีอัตราที่ต่ำ  สิ่งเหล่านี้ทำให้รับรองได้ว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูตรผสมไม่มีผลกระทบในทางไม่พึงประสงค์ต่อความสามารถของผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรค” รศ. Forde กล่าว  “แม้ในประวัติศาสตร์จะใช้การบำบัดก่อนการผ่าตัดน้อยกว่าการบำบัดหลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วย แต่เชื่อว่า การทดลอง CheckMate-816 มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของการรักษานั้นได้”
         รศ. Forde เตือนว่า แม้ผลลัพธ์หลัก primary endpoint ของ pCR สำหรับการทดลอง CheckMate-816 จะดูดี แต่จำเป็นต้องดำเนินการศึกษาต่อไปเพื่อให้บรรลุถึงผลลัพธ์หลักอันดับที่ 2 คือ การรอดชีวิตโดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ

ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีความเสี่ยงมากขึ้นต่ออาการป่วยทางจิต
          ผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่มีโอกาสที่จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และภาวะการปรับตัวผิดปกติ มากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
          โรคมะเร็งรังไข่ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดอันดับที่ 5 ในผู้หญิง  เนื่องจากโรคนี้มักจะวินิจฉัยพบในระยะที่โรครุนแรงแล้ว จึงรักษาได้ยาก และส่งผลให้อัตราการรอดชีวิต 5 ปี มีเพียงร้อยละ 48.6
          ขณะที่งานวิจัยบางชิ้นได้ศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งรังไข่ แต่มีการศึกษาน้อยมากที่ตรวจสอบปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมะเร็งร้ายชนิดนี้ในการศึกษากับกลุ่มประชากร Siqi Hu นักศึกษาปริญญาเอก จาก Department of Family and Preventive Medicine ที่ University of Utah และ Huntsman Cancer Institute กล่าวอธิบาย
         “ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะผู้ป่วยเหล่านี้เผชิญกับภาวะรบกวนที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย และต้องต่อสู้กับผลข้างเคียงที่เป็นพิษภัยจากการรักษาโรคมะเร็ง” Hu กล่าวและว่า “เราต้องการตรวจสอบสุขภาพจิตในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ซึ่งมักจะพบกับพยากรณ์โรคที่ไม่ดี”
         ในการศึกษานี้ คณะผู้วิจัยได้ใช้ทะเบียนโรคมะเร็งของรัฐยูทาห์ในการค้นหาผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ 1,689 คนที่ได้รับการวินิจฉัยโรคระหว่างปี 1996 และ 2012 และจับคู่ผู้ป่วยกลุ่มนี้กับผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง 7,038 คน  นักวิจัยได้ใช้บันทึกสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อค้นหาการตรวจวินิจฉัยสุขภาพจิต โดยแยกผู้ที่เกิดปัญหาสุขภาพจิตก่อนผู้หญิงกลุ่มนี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรังไข่ออกไป
         การศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไป ผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่มีโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยทางจิตมากกว่าถึง 3 เท่า ใน 2 ปีแรก หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรังไข่  โดยที่ความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งรังไข่ 3.11 เท่า ใน 2 ปีแรก หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรังไข่ และ 1.67 เท่า ในระยะ 2-5 ปี หลังการวินิจฉัยโรค  ความเสี่ยงต่อโรควิตกกังวลในผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งรังไข่สูงกว่า 3.54 เท่าใน 2 ปีแรก หลังได้รับการวินิจฉัยโรค และ 1.86 เท่า ในระยะ 2-5 ปี หลังการวินิจฉัยโรค  ความเสี่ยงต่อภาวะการปรับตัวผิดปกติในผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคมากกว่า 3 เท่า
         คณะผู้วิจัยยังตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสุขภาพจิตกับความเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวิต และพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตถึง 1.8 เท่า
         Hu กล่าวว่า จากการวิจัยก่อนหน้านี้ เธอคาดว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อความผิดปกติของสุขภาพจิต  “อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้สูงขึ้นมากและคงอยู่เป็นเวลานานกว่าที่เราคาดไว้” เธอกล่าว
         การศึกษานี้แสดงว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่จะได้ประโยชน์จากบริการสุขภาพจิตองค์รวมในระหว่างการรักษาและหลังการรักษาโรคมะเร็ง
         “มีความจำเป็นที่จะต้องคัดกรองสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่” Hu กล่าว “มีความสำคัญที่เราจะต้องตระหนักว่า สุขภาพจิตอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาของการวินิจฉัยและการรักษาโรค  ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจจะต้องได้รับคำปรึกษาทางสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อค้นหาปัญหาต่าง ๆ เช่น โรคซึกเศร้าและโรควิตกกังวล  การสนับสนุนช่วยเหลือที่มากขึ้นอาจช่วยยืดชีวิตของผู้รอดจากโรคมะเร็งรังไข่ได้”
         ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า การวิจัยในอนาคตจะตรวจดูบทบาทที่การรักษาในแง่มุมต่าง ๆ มีต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย  Hu บอกว่า งานวิจัยที่ทำอยู่อาจช่วยแพทย์มะเร็งวิทยาและผู้ป่วยให้เข้าใจและเตรียมตัวสำหรับผลกระทบทางจิตวิทยาจากการรักษาโรคมะเร็ง
         Hu บอกว่า มีข้อจำกัดบางประการในการศึกษาครั้งนี้ ประการแรก เนื่องจากการศึกษาใช้ข้อมูลบันทึกทางการแพทย์ทางอิเล็กทรอนิกส์  บันทึกอาการป่วยทางจิตที่รุนแรงน้อยกว่าและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอาจปรากฏน้อยเกินไป  เธอยังชี้ให้เห็นอีกว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงของผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่อาจส่งผลต่อความเอนเอียงในอัตราการรอดชีวิต

ยาสูตรผสม copanlisib กับ rituximab ลดการลุกลามหรือเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เกือบครึ่งจากการทดลอง
          การใช้ยาสูตรผสม copanlisib (Aliqopa) และ rituximab ลดความเสี่ยงต่อการลุกลามหรือการเสียชีวิตได้ร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอกและยา rituximab ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินแบบค่อยเป็นค่อยไปที่กลับมาเป็นอีก () ในการทดลองเฟส III  CHRONOS-3
          มีการเผยแพร่ข้อมูลจากการทดลองครั้งนี้ใน The Lancet Oncology พร้อมกับการประชุมครั้งนี้
         “เราดีใจที่พบว่า ยา copanlisib สามารถใช้ร่วมกับยา rituximab ได้อย่างปลอดภัย เพื่อการรักษาในระยะยาวกับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินแบบค่อยเป็นค่อยไปที่กลับมาเป็นอีก” นพ.Matthew J. Matasar MD, สมาชิกสมทบแห่ง Lymphoma Service ที่ Memorial Sloan Kettering Cancer Center (MSK) กล่าว
        “การทดลอง CHRONOS-3 ได้บรรลุความสำเร็จในผลลัพธ์หลัก คือ อัตราการรอดชีวิตโดยโรคสงบหรือไม่มีการดำเนินโรค (progression-free survival: PFS) และมีผลการรักษาดีขึ้นในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไปในชนิดย่อย ๆ หลายชนิดจากการศึกษาครั้งนี้  ครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งแรกที่รายงานถึงประโยชน์ในวงกว้างที่มีต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้” นพ.Matasar กล่าวเพิ่มเติม
        การให้ยา rituximab แบบยาเดี่ยวเป็นมาตรฐานการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินแบบค่อยเป็นค่อยไปที่กลับมาเป็นอีกในหลายซับไทป์ “อย่างไรก็ตาม ยาไม่ได้ผลบ่อยครั้ง หรือไม่ได้ผลยาวนานอย่างที่เราต้องการ” นพ. Malasar กล่าว
        การศึกษาก่อนขั้นตอนทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาศัยเส้นทางการส่งสัญญาณของเซลล์ที่เรียกว่า PI3K pathway เพื่อการอยู่รอด และการกระตุ้นของ PI3K มีบทบาทในการต่อต้านยา rituximab นพ. Matasar กล่าวอธิบาย  ส่วนยา copanlisib เป็น potent PI3K inhibitor ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้เป็นยาเดี่ยวสำหรับผู้ป่วย follicular lymphoma ซึ่งเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไปที่เกิดขึ้นทั่วไป โรคนี้จะเกิดเป็นซ้ำอีก หลังจากผ่านการรักษามาก่อนอย่างน้อย 2 ครั้ง
       ในการทดลอง CHRONOS-3 ได้สุ่มให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินแบบค่อยเป็นค่อยไปที่กลับมาเป็นอีกได้รับยา copanlisib ร่วมกับยา rituximab (307 คน) หรือ ยาหลอกกับยา rituximab (151 คน) จากผู้ป่วยทั้งหมด โดยผู้ป่วยร้อยละ 60 เป็น follicular lymphoma ร้อยละ 20.7 เป็น marginal zone lymphoma ร้อยละ 10.9 เป็น lymphocytic lymphoma ขนาดเล็ก และร้อยละ 8.3 เป็น lymphoplasmacytic lymphoma/Waldenström macroglobulinemia
       หลังจากติดตามผลด้วยค่ามัธยฐาน (19.2 เดือน) การศึกษาบรรลุผลลัพธ์หลัก คือ อัตราการรอดชีวิตโดยโรคสงบ โดยความเสี่ยงต่อการดำเนินโรคหรือการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 48 ในกลุ่มที่ใช้ยา copanlisib-rituximab พบว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลือง follicular lymphoma, marginal zone lymphoma และl lymphocytic lymphoma ขนาดเล็ก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  อัตราการรอดชีวิตโดยโรคสงบ (PFS) มีค่ามัธยฐานเท่ากับ 21.5 เดือน ในกลุ่มที่ได้รับยา copanlisib-rituximab และ 13.8 เดือน ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกกับยา rituximab
       อัตราการตอบสนองโดยรวมเท่ากับร้อยละ 80 ในกลุ่มที่ได้รับยา copanlisib-rituximab เทียบกับร้อยละ 47.7 ในกลุ่มยาหลอกกับยา rituximab  อัตราการตอบสนองอย่างสมบูรณ์เท่ากับร้อยละ 33.9 ในกลุ่มที่ได้รับยา copanlisib-rituximab เทียบกับร้อยละ 14.6 ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกกับยา rituximab โดยไม่สามารถประมาณค่ามัธยฐานของอัตราการรอดชีวิตโดยรวมได้ในเวลาที่มีการประเมิน
       เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุดของการรักษาด้วยยา copanlisib คือ การเพิ่มขึ้นของกลูโคสในเลือดและความดันโลหิต  ผลข้างเคียงดังกล่าวจะคงอยู่ชั่วคราวและไม่จำเป็นต้องมีการรักษา นพ. Matasar กล่าว
       “มีผู้ป่วยน้อยมากที่ต้องหยุดรับการรักษา เนื่องจากผลข้างเคียงเหล่านี้ (ร้อยละ 3 และ 1 ตามลำดับ)  การอักเสบของปอดเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เราเฝ้าระวัง แต่มีรายงานเพียงร้อยละ 3 ของผู้ป่วยที่ได้รับยา copanlisib กับ rituximab” เขากล่าว
       การศึกษาก่อนหน้านี้ซึ่งใช้ยา PI3K inhibitors ชนิดรับประทานรายวัน คือ ยา idelalisib และยา duvelisib ส่งผลก่อพิษที่รุนแรง รวมถึงการเสียชีวิต ทำให้ต้องหยุดการทดลองทางคลินิกอย่างรวดเร็ว การให้ยา copanlisib เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำเป็นระยะ ๆ และมีอัตราของผลข้างเคียงที่ต่ำ เมื่อเทียบกับยา PI3K inhibitors ชนิดรับประทานดังกล่าว  Matasar กล่าว
       “ดังนั้น ผลโดยรวมจากการทดลอง CHRONOS-3 จึงเป็นการพิสูจน์แนวคิดที่รอมานานของการใช้ยาสูตรผสมของ PI3K inhibitor ร่วมกับยา rituximab และหวังว่าจะให้ความเข้าใจถึงการศึกษาที่ยังทำอยู่ในปัจจุบันและอนาคตของการพัฒนาการใช้ยา copanlisib และยา PI3K inhibitors ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่
       การติดตามผลลัพธ์หลักของการศึกษานี้ที่ค่ามัธยฐาน 19 เดือน และผู้ป่วยหลายคนยังอยู่ระหว่างการรักษา ณ เวลาที่ทำการวิเคราะห์  โดยยังไม่พบความแตกต่างของอัตราการรอดชีวิตโดยรวม ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทุติยภูมิของการศึกษาระหว่าง 2 กลุ่ม และจะต้องอาศัยการติดตามผลที่ใช้เวลานานขึ้น เพื่อดูว่าการใช้ยาสูตรผสมของยา copanlisib กับยา rituximab จะช่วยให้ค่าเฉลี่ยอายุขัยคาดหวังเพิ่มขึ้นหรือไม่

ให้วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลหลังยาบำบัดเสริมปลอดภัยและเกิดผลดีในเนื้องอกหลายชนิด
          การรักษาด้วย neoantigen cancer vaccine PGV-001 หลังจากการบำบัดเสริม (adjuvant therapy) ตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ผลดีทางคลินิกและความปลอดภัยในผู้ป่วยเนื้องอกหลายชนิดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับมาเป็นโรคอีก    
          “ขณะที่ภูมิคุ้มกันบำบัดเข้ามาปฏิวัติการรักษาโรคมะเร็ง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นจำนวนมากไม่ปรากฏการตอบสนองทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญกับการรักษาแบบนี้” ดร. นพ.Thomas Urban Marron, M.D., Ph.D., ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ Early Phase and Immunotherapy Trials ที่ The Tisch Cancer Institute และผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางการแพทย์ (สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา) จาก Icahn School of Medicine ที่ Mount Sinai กรุงนิวยอร์ก กล่าว
          “วัคซีนโรคมะเร็ง ซึ่งโดยปกติจะเป็นสูตรผสมของนิโอแอนติเจน (neoantigens) เฉพาะสำหรับเนื้องอกมะเร็งกับสารเสริมฤทธิ์ (adjuvant) ที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน อาจเป็นกลยุทธ์การบำบัดที่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยที่เคยไม่มีการตอบสนองที่มีฤทธิ์ต่อต้านเนื้องอกมะเร็งอยู่แต่เดิม
          “มีการใช้วัคซีนโรคมะเร็งเฉพาะบุคคลจากห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่กับโรคในระยะแพร่กระจาย  แต่การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดมีแนวโน้มที่จะเกิดประสิทธิผลมากกว่ากับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดเล็กกว่า”  ดร.พญ. Nina Bhardwaj M.D., Ph.D. ผู้เขียนรายงานการศึกษา และเป็นผู้อำนวยการ Immunotherapy Program ที่ The Tisch Cancer Institute และประธาน Ward-Coleman Chair ที่ Cancer Research แห่ง Icahn School of Medicine ที่ Mount Sinai กล่าว
         “ดังนั้น เราจึงพัฒนาวัคซีนนิโอแอนติเจนที่จะให้กับผู้ป่วยหลังจากให้การบำบัดด้วยสารเสริมฤทธิ์ตามมาตรฐานการรักษาแล้ว ในเวลาที่ผู้ป่วยมีโรคหลงเหลืออยู่น้อยมาก (ปกติต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์)
         ในการพัฒนาวัคซีนโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล ดร.นพ. Marron และคณะผู้ร่วมงาน ได้จัดลำดับ DNA ของเนื้องอกและเซลล์ถ่ายทอดพันธุกรรม กับ RNA ในเนื้องอกของผู้ป่วย  คณะผู้วิจัยได้ระบุชนิด HLA (human leukocyte antigen) ของผู้ป่วย เพื่อช่วยพยากรณ์ศักยภาพของภูมิคุ้มกันในการจดจำ neoantigen นั้นด้วย  โดยใช้กระบวนการคำนวณที่เรียกว่า OpenVax ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ Mount Sinai คณะผู้วิจัยสามารถค้นพบและให้อันดับความสำคัญแก่ neoantigen ที่สร้างกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (immunogenic neoantigen) เพื่อสังเคราะห์และรวมเข้าไว้ในวัคซีน  มีการรวม neoantigen peptide มากถึง 10 peptide เฉพาะสำหรับกับชนิด HLA ของผู้ป่วยไว้ในวัคซีนเฉพาะบุคคลของผู้ป่วยแต่ละคน ดร.นพ.Marron กล่าว
         หลังจากการผ่าตัดและการให้สารเสริมฤทธิ์ตามมาตรฐานการรักษาแล้ว ผู้ป่วยได้รับวัคซีนเฉพาะบุคคล 10 โดส ในเวลา 6 เดือน โดยจะได้รับ poly-ICLC กระตุ้นภูมิคุ้มกัน  “poly-ICLC เป็นการเลียนแบบไวรัสที่มี RNA  2 แขน มีความคงตัว และได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งสามารถกระตุ้นตัวรับภูมิคุ้มที่มีอยู่แต่เดิมหลายตัว มันจึงเป็นสารเสริมฤทธิ์ที่เหมาะสมที่สุด (optimal adjuvant) ในการชักนำการตอบสนองของภูมิคุ้มกันใหม่ที่มีฤทธิ์ต้าน tumor neoantigens” ดร.พญ. Bhardwaj กล่าว
        วัคซีนยังใช้ tetanus helper peptide ด้วย  เนื่องจากคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เปปไทด์ตัวช่วยนี้จะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อ neoantigens ที่ให้มาพร้อมกัน
มีการสรรหาผู้ป่วยเข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 15 คน โดยได้รับวัคซีนที่สังเคราะห์สำเร็จแล้ว ผู้ป่วยทุกคนได้รับการผ่าตัดเพื่อการรักษา (สำหรับมะเร็งชนิดก้อน) หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตนเอง (autologous stem-cell สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา-multiple myeloma) และโดยสถิติมีโอกาสอย่างน้อยร้อยละ 30 ที่จะกลับมาเป็นโรคอีก
        ผู้ป่วย 2 คน ไม่เคยได้รับวัคซีน (คนหนึ่งเนื่องจากการลุกลามของโรค และอีกคนหนึ่งเนื่องจากผู้ป่วยเลือกรับการทดลองทางคลินิกแบบอื่น)  ในบรรดาผู้ป่วย 13 คน ที่ได้รับวัคซีน PGV-001 มี 10 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งชนิดก้อน และ 3 คน เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา ผู้ป่วยทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 7 โดส และ 11 คน ได้รับวัคซีนทุกโดส  
หลังจากติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 925 วัน ผู้ป่วย 4 คน ไม่ปรากฏหลักฐานของโรค ผู้ป่วย 4 คน ได้รับการรักษาในขั้นต่อมา,  ผู้ป่วย 4 คน เสียชีวิต และผู้ป่วยอีก 1 คน ขาดการติดตามผล  การรอดชีวิตโดยโรคสงบนับจากเวลาที่การผ่าตัดหรือปลูกถ่ายมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 618 วัน
       ผู้ป่วยมีความทนต่อวัคซีนได้ดี โดยมีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ที่มีอาการบวมแดงรอบ ๆ ที่ฉีดยา ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีหลักฐานของโรค มีการวินิจฉัยโรคที่ครอบคลุมมะเร็งมัยอิโลมา, ปอด, เต้านม และระบบทางเดินปัสสาวะ
       “ผลการทดลองของเราแสดงว่า กระบวนการ OpenVax เป็นวิธีที่ได้ผลในการพัฒนาวัคซีนโรคมะเร็งเฉพาะบุคคลที่ปลอดภัย ซึ่งมีศักยภาพที่สามารถใช้รักษาเนื้องอกมะเร็งหลายชนิด” ดร.นพ.Marron กล่าว
       ข้อจำกัดของการศึกษานี้ ได้แก่ เป็นการศึกษาขนาดเล็กและการใช้วัคซีนกับประชากรคลินิกที่หลากหลาย สมุฏฐานโรคของเนื้องอก และขั้นตอนการรักษาหลังการผ่าตัด ดร. พญ.Bhardwaj กล่าว

การใช้ชีวิตด้วยวิถีสุขภาพที่ดีอาจต้านความเสี่ยงพันธุกรรมก่อมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรงได้
           ปัจจัยทางพันธุกรรมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทุกชนิด รวมทั้งชนิดร้ายแรง และการใช้ชีวิตด้วยวิถีสุขภาพที่ดีสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงได้สำหรับผู้ชายในกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูง
           Dr. Anna Plym, Ph.D. จาก Brigham and Women's Hospital ในบอสตัน และคณะผู้ร่วมงานได้ใช้คะแนนความเสี่ยง polygenic risk score (PRS) สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมด เพื่อวัดความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย 10,443 คน ในโครงการ Health Professionals Follow-up Study   มีการใช้คะแนนวัดวิถีการดำเนินชีวิต (lifestyle score) ที่ตรวจสอบความตรงแล้ว สำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรง และได้ตรวจอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมดกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรงระหว่างติดตามผล
           ระหว่างติดตามผลด้วยค่ามัธยฐาน 18 ถึง 22 ปี คณะผู้วิจัยได้พบอุบัติการณ์โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 2,111 คน และโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรง 238 คน ตามลำดับ  เมื่อจัดชั้นความเสี่ยงด้วย PRS ผู้ชายกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงสุดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรงสูงกว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำสุด (ด้วยอัตราส่วนอันตราย (hazard ratios) เท่ากับ 5.39 และ 3.53 ตามลำดับ)
           การเกาะติดการใช้ชีวิตด้วยวิถีสุขภาพที่ดีเมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีน้อยที่สุด มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรง ในผู้ชายกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงสุด (อัตราส่วนอันตรายเท่ากับ 0.54) แต่ไม่พบความสัมพันธ์ของการใช้ชีวิตวิถีเพื่อสุขภาพที่ดีกับความเสี่ยงที่ลดลงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยรวม
           “ความเสี่ยงที่ลดลงต่อโรคร้ายแรงในผู้ที่ใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงสูงทางพันธุกรรมต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดร้ายแรง สามารถชดเชยได้ด้วยการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี” Dr.Plym กล่าว