อย. แนะผู้บริโภคเกี่ยวกับวิธีการเลือกซื้อนมพร้อมดื่ม และการเก็บรักษานมที่เหมาะสม ป้องกันปัญหานมเน่าเสียก่อนการบริโภค เน้นตรวจสอบฉลาก มีเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย มีข้อมูลบนฉลากครบถ้วน ที่สำคัญซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันดื่มนมโลก” หรือ “World Milk Day” เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่าง ๆ หันมาบริโภคนม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาด อย. จึงแนะผู้บริโภคถึงวิธีการเลือกซื้อนมพร้อมดื่มเพื่อความปลอดภัย โดยก่อนซื้อให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์นม ซึ่งต้องมีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก มีข้อมูลบนฉลากครบถ้วน ได้แก่ ชื่ออาหาร ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วัน/เดือน/ปีที่ผลิต และวัน/เดือน/ปีที่หมดอายุ ภาชนะบรรจุต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่ฉีกขาด ควรเลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้าที่มีการเก็บผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม เช่น ตู้แช่หรือสถานที่เก็บไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพแล้ว การเก็บรักษานมเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของนม ปัจจุบันมีนมหลายประเภทจำหน่ายในท้องตลาด โดยมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ นมพาสเจอร์ไรส์ ซื้อมาแล้วควรเก็บในตู้เย็นทันที เก็บได้นานประมาณ 10 วัน ที่อุณหภูมิไม่เกิน 8°C นับจากวันที่บรรจุ ในกรณีที่ดื่มไม่หมดต้องการเก็บไว้ดื่มอีก ควรเทแบ่ง ไม่ดื่มจากภาชนะบรรจุโดยตรงซึ่งจะทำให้นมที่เหลือบูดง่าย นมยูเอชที ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิปกติ ไม่ควรโดนแดดโดยตรง ไม่เก็บซ้อนหลายชั้นเกินไป เก็บได้นานประมาณ 6 เดือน นมเปรี้ยว ควรเก็บในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บได้นานกว่านมประเภทอื่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ ถ้าเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 8°C จะเก็บได้นานถึง 21 วัน นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที เก็บได้ประมาณ 8 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น และนมสเตอริไรส์ (กระป๋อง) เก็บได้นานประมาณ 12 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ไม่ควรให้โดนแดดโดยตรง
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเน่าเสียของนมพร้อมดื่มอาจเกิดได้หลายกรณี ทั้งทางด้านกระบวนการผลิต อาจใช้ความร้อนสูงไม่เพียงพอ หรือใช้เวลาฆ่าเชื้อน้อยเกินไป การบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะทำให้มีการปนเปื้อน เก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม รวมถึงลักษณะการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง อาจเป็นสาเหตุให้ภาชนะบรรจุนมมีการรั่วซึม ทำให้จุลินทรีย์จากภายนอกปนเปื้อนเข้าไปได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุนม อย่าให้มีการกระแทกกับของแข็งหรือของมีคม ไม่ควรโยนหรือเหยียบไปบนกล่องบรรจุขณะขนย้าย และไม่ควรวางกล่องนมซ้อนเกิน 7 ชั้น แต่หากเป็นการหุ้มด้วยพลาสติก ไม่ควรวางเกิน 5 ชั้น เพราะจะทำให้กล่องนมด้านล่างถูกกดทับจนเกิดการรั่วซึมได้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์นมที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเลขสารบบอาหาร สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป