อาหารคลายเศร้า

ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน คนเกิดภาวะเครียดมากขึ้น หลายคนมีอาการซึมเศร้า ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านอกเหนือจากการกินยา และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับกินเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการกินยารักษาจากอาการป่วยซึมเศร้า ดังนี้
          กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดอาการซึมเศร้า คือ โอเมก้า 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่าง ๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาดุก เป็นต้น
          กลุ่มที่ 2 ไข่ มีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟนช่วยสร้างเซโรโทนิน และไทโรซีนจะช่วยสร้างโรโทนิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระทำให้อารมณ์ดี และเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
          กลุ่มที่ 3 กล้วย มีแร่ธาตุโพแทสเซียมและสารทริปโตเฟน ในกล้วยบรรเทาความดันโลหิตให้กลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียด และวิตกกังวล
          กลุ่มที่ 4 กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน  เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น ช่วยสร้างสารเซโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย
          กลุ่มที่ 5 กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุซีลีเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข ลดอาการขุ่นมัวได้
          กลุ่มที่ 6 กลุ่มนี้จะเป็นเครื่องดื่มที่เป็นผลดีต่ออารมณ์ คือ เครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ น้ำอัญชัน ซึ่งจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลาย ลดความกังวล ช่วยให้นอนหลับ ส่วนน้ำลำไย มีสาร 2 ชนิด คือ กรดแกลลิก ช่วยให้อารมณ์ดี และสารกาบา ช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
          นอกจากอาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรกินแล้ว ข้อควรระวังสำหรับอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามกินเนื่องจากจะขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษาหรือซ้ำเติมอาการของผู้ป่วย ได้แก่
          1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เพราะอาหารที่น้ำตาลสูง ร่างกายจะดูดซึมได้เร็ว ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ถ้าร่างกายเจอน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำอาจนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้
          2. อาหารประเภทไส้กรอก ถั่วปากอ้า เพราะมีสารไทรามีนสูง ทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด ได้
          3. เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่ม ได้แก่
          -ชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนสูง ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ  และหากดื่มมากกว่า 2 แก้วต่อวัน ร่างกายจะได้รับคาเฟอีนสูง ยิ่งทำให้วิตก ใจสั่น เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น
          -น้ำอัดลม รวมทั้งน้ำอัดลมประเภทไดเอท เพราะมีน้ำตาลและคาเฟอีนสูง
          -น้ำผลไม้บางชนิด เช่น น้ำตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่น หรือเกรปฟรุต อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ยาไม่เกิดผลการรักษาดีเท่าที่ควร
          ดังนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรดูแลตัวเอง เลือกกินอาหารให้เหมาะสม ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส และพบแพทย์เป็นประจำ ก็จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจดีขึ้นจากอาการซึมเศร้าได้


ขอขอบคุณแหล่งที่มา:
https://www.thaihealth.or.th/Content/49203 สสส.