ในขณะที่หลายประเทศมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการเสียชีวิตของประเทศในเขตทวีปแอฟริกาค่อนข้างต่ำ อย่างเช่น ประเทศเซียร์ราลีโอน ในช่วงระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าอัตราการครองเตียงที่เกิดจากโรคต่ำมาก โดยศูนย์ตอบโต้การระบาดโควิด-19 รายงานตัวเลขการติดเชื้ออยู่ที่ 11 รายและไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
โซนรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ปิดตัวลง ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูกีฬา การชมคอนเสิร์ต โดยไม่มีการใส่หน้ากาก ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศในแถบแอฟริกาจึงมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าที่อื่น อีกทั้งมีการตั้งคำถามว่า นโยบายที่ประชากรในทวีปแอฟริกาจะต้องได้รับวัคซีนมากกว่า 70% ยังคงมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุดหรือไม่ เนื่องจากโรคระบาดอย่างอื่น เช่น ไข้มาลาเรีย ยังมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าโรคโควิด-19 เป็นต้น
ในช่วงการระบาดใหม่ ๆ มีความกังวลว่า โรคโควิด-19 จะเป็นปัญหาที่สำคัญกับระบบสาธารณสุขที่มีอัตราหมออยู่ที่ 3:100,000 ประชากร จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำสำหรับประเทศที่มีปัญหาด้านโรคระบาด เช่น มาลาเรีย เอดส์ วัณโรค และภาวะทุพโภชนาการ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบน้อยมากที่นี่ทั้ง ๆ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก
จากการศึกษาพบว่า ตัวอย่างเลือดที่มีการตรวจเพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันนั้น พบว่า 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (ซับ-ซาฮาราน แอฟริกา) พบระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำเพียง 14% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และการศึกษาเบื้องต้นขององค์การอนามัยโลกที่ทำในทวีปแอฟริกา พบว่า อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 65% ของจำนวนประชากร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ซึ่งสูงกว่าการติดเชื้อในที่อื่น ๆ และในภาพรวมทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนแค่ 4% ของจำนวนประชากรเท่านั้น
มีการคาดเดาว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากค่ากลางของอายุประชากรอยู่ที่ 19 ปี เปรียบเทียบกับ 43 ปี ในยุโรป และ 38 ปี ในอเมริกา โดย 2 ใน 3 ของประชากรในซับ-ซาฮาราน แอฟริกา มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และมีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งหมายความว่าอัตราประชากรที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังค่อนข้างต่ำ ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และโดยส่วนใหญ่โรคนี้จะไม่แสดงอาการรุนแรงในกลุ่มอายุน้อย จึงทำให้การรายงานการติดเชื้อต่ำลงไปด้วย และยังมีข้อสมมุติฐานอื่น ๆ มาสนับสนุน เช่น สภาพภูมิอากาศที่ร้อน การทำกิจกรรมกลางแจ้ง ความหนาแน่นของประชากรที่ต่ำ หรือข้อจำกัดในระบบเดินทางขนส่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อสมมุติฐานดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับสถานกาณ์ความเป็นจริงในประเทศอินเดีย เนื่องจากอินเดียค่ากลางของอายุประชากรอยู่ที่ 28 ปี และเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อน แต่จากการระบาดของเดลต้า มีผู้เสียชีวิตนับล้าน ซึ่งมากกว่าที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการที่ 400,000 กว่าราย
ส่วนใหญ่แล้วในแอฟริกา คนมักจะเสียชีวิตที่บ้าน และไม่มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติของแอฟริกาเปิดเผยว่า การระบุสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการนั้น สามารถทำได้แค่ 1 ใน 3 รายเท่านั้น แต่ในประเทศแอฟริกาใต้ที่สามารถรายงานสาเหตุการเสียชีวิตได้ในเกือบทุกกรณี รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 250,000 ราย ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19
ดร.โลแรนซ์ มวานันยันดา นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตันและที่ปรึกษาพิเศษประธานาธิบดีแซมเบีย กล่าวว่า สถานการณ์การเสียชีวิตในแซมเบียไม่ต่างจากประเทศแอฟริกาใต้ แต่ระบบการรายงานนั้นด้อยกว่า ซึ่งรายงานจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 4,000 ราย จากจำนวนประชากรที่ 18 ล้านคน และแบบจำลองการเสียชีวิตในทวีปแอฟริกาพบว่า อาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่มในช่วงระบาดอยู่ที่ 1-2.9 ล้านคน
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนปฏิเสธข้อมูลจากแบบจำลองดังกล่าว โดยกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่คนที่เสียชีวิตนับล้านจากโควิด-19 จะไม่ได้รับการสังเกต
ดร.เทียอาร์โน บอลเดย์ จากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานการฝังศพขนาดใหญ่ในแอฟริกา และถ้ามีสิ่งนั้นเกิดขึ้น จะต้องเป็นที่รับรู้ในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ดร. อัปดารา ซีราบา นักระบาดวิทยา ของศูนย์ศึกษาประชากรและสุขภาพแอฟริกา ของประเทศเคนยา กล่าวว่า ถ้ามีการเสียชีวิตจะต้องมีการประกาศเพื่อให้รับทราบกันทั่วไปในหมู่สังคม และงานศพเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการประกอบพิธีกรรม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตอย่างถูกต้อง แต่สามารถรับรู้ได้ถ้ามีการเสียชีวิตเกิดขึ้น
ในขณะที่ ดร. ออสติน เดมบี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเซียร์ราลีโอน กล่าวว่า ยังไม่เห็นจำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และยังไม่มีหลักฐานว่ามีการเสียชีวิตมากผิดปกติจากโรคโควิด-19 และเขากล่าวว่าประชาชนมีบทเรียนจากการระบาดของโรคอีโบลาในช่วงปี 2014-2016 จึงงดเว้นการรวมกลุ่มเมื่อเกิดโรคระบาด
จอน จอนสัน ที่ปรึกษาด้านวัคซีน ขององค์กรหมอไร้พรมแดน กล่าวว่า อัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตที่ต่ำอาจต้องมีการทบทวนนโยบายวัคซีนใหม่ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 70% ของประชากรแอฟริกาอาจจะเป็นประโยชน์เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อมีความเชื่อที่ว่า วัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระยะยาว และสามารถยุติการระบาดของโรคได้ แต่ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถเป็นเช่นนั้น เมื่อภูมิคุ้มกันลดลงในเวลาอันสั้น และการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด
อย่างเซียร์ราลีโอน การใช้กลยุทธ์สร้างภูมิคุ้มกันควรจะพิจารณาใหม่ว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ในขณะที่ประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาสาธารณสุขที่ใหญ่กว่า เช่น โรคโปลิโอ โรคมาลาเรีย โรคหัด เขายังกล่าวอีกว่า โรคโควิด-19 เป็นปัญหาสำหรับประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมาก และมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ภาวะอ้วน เป็นต้น
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.hfocus.org/content/2022/05/25010
ภาพ : WHO