กินแอสไพรินทุกวันไม่ช่วยป้องกันภาวะความสามารถของสมองบกพร่อง

ในการทดลองแบบสุ่มขนาดใหญ่ การใช้แอสไพรินเป็นเวลา 5 ปี ไม่ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคความจำเสื่อมหรือความสามารถของสมองบกพร่อง
          ในการศึกษา “ผลของการใช้ยาแอสไพรินต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในผู้สูงวัยที่สุขภาพดี” (Effect of Aspirin on All-Cause Mortality in the Healthy Elderly: ASPREE) มีการสุ่มผู้สูงวัย 19,000 คน (ค่ามัธยฐานอายุ 74 ปี) ซึ่งไม่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจหรือโรคความจำเสื่อมให้ได้รับยาแอสไพรินหรือยาหลอก 100 mg ทุกวัน  ระหว่าง 5 ปีของการรักษา พบว่า ยาแอสไพรินไม่ช่วยลดอัตราการรอดชีวิตโดยไม่มีภาวะพิการ โรคความจำเสื่อม หรือภาวะเสียหายของหัวใจและหลอดเลือด (NEJM JW Gen Med Oct 15 2018 และ N Engl J Med 2018; 379:1499, 1509, 1519)
          ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับการทดสอบความรู้ความเข้าใจ ณ ตอนเริ่มต้นและสิ้นสุดการทดลอง ซึ่งช่วยให้คณะผู้วิจัยพิจารณาผลลัพธ์ของความรู้ความเข้าใจได้ใกล้ชิดมากขึ้น พบว่า ความจำเสื่อมที่เริ่มเป็นใหม่เกิดกับผู้เข้าร่วมการศึกษาร้อยละ 3 ทั้งในกลุ่มที่ใช้ยาแอสไพรินและกลุ่มยาหลอก ผู้ป่วยเกือบทุกคนได้รับการจัดกลุ่มให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่มีความเป็นไปได้ทางคลินิก
          พบอุบัติการณ์ความสามารถของสมองบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment: MCI) ร้อยละ 2 ในทั้ง 2 กลุ่ม  ส่วนความเสื่อมถอยของสมอง (cognitive decline มีความบกพร่องในการทดสอบความรู้ความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่งในผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของโรคความจำเสื่อม หรือ MCI) พบในผู้เข้าร่วมการศึกษาร้อยละ 9 ของแต่ละกลุ่ม
          กลไกที่เป็นไปได้ที่ยาแอสไพรินอาจลดอุบัติการณ์ของความสามารถของสมองบกพร่อง ได้แก่ ผลของยาต้านการอักเสบในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคอัลไซเมอร์ และผลของการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (vascular dementia)  อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้ยาแอสไพรินทุกวันเป็นเวลา 5 ปี ในผู้ที่อยู่ในวัย 70 ปี ไม่มีผลต่อการเกิดภาวะความสามารถของสมองบกพร่องหรือโรคความจำเสื่อม