<
(GETTY IMAGES)
รูป 1 โรคอัลไซเมอร์ เป็นความผิดปกติในสมองที่ค่อย ๆ ทำลายความจำและทักษะการคิด
ผลการทดสอบพบว่า ยาชะลอโรคอัลไซเมอร์ตัวใหม่ “โดนาเนแมบ” (Donanemab) สามารถชะลออาการสมองเสื่อมได้ถึง 1 ใน 3 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการรักษาโรคอัลไซเมอร์
ไมค์ คอลลีย์ วัย 80 ปี เป็นหนึ่งในผู้ป่วยไม่กี่สิบคนในสหราชอาณาจักร ที่เข้าร่วมในการทดลองตัวยาโดนาเนแมบ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทดลองทั่วโลก โดยผลการทดลองได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ “จามา” (JAMA) แล้ว
เขาได้รับยาเดือนละครั้งที่คลินิกในกรุงลอนดอน มาวันนี้เขาระบุว่า “ผมเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีที่สุดที่คุณจะได้พบ”
การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ สามารถช่วยชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ในช่วงแรกเริ่มแสดงอาการ และแม้ตัวยาจะใช้กับโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ไม่สามารถใช้กับภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ได้ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง
รูป 2 ไมค์ คอลลีย์ (ซ้าย) และลูกชาย มาร์ค (ขวา)
นั่นเพราะยาโดนาเนแมบถูกพัฒนาขึ้นเพื่อขจัดปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่โรคอัลไซเมอร์ นั่นคือ อะไมลอยด์ (amyloid) ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนโปรตีนที่ก่อตัวขึ้นในช่องว่างระหว่างเซลล์สมอง
ไมค์และครอบครัวของเขาสังเกตเห็นว่าเขาเริ่มมีปัญหากับความทรงจำและการตัดสินใจ ไม่นานก่อนที่เขาจะเข้าร่วมการทดสอบตัวยา
ลูกชายของเขา คือ มาร์ค นั่งอยู่ข้างพ่อ และเล่าว่ามันยากมากที่จะมองพ่อในตอนแรก ๆ “ต้องเห็นเขาทุรนทุรายกับการไตร่ตรองข้อมูล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ มันก็ยาก แต่ผมคิดว่า ตอนนี้ภาวะสมองเสื่อมมันลดทอนลงไปแล้ว”
ไมค์ให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซี จากเมืองเคนท์ เขาระบุว่า “ผมรู้สึกมั่นใจขึ้นในทุกวัน”
โดนาเนแมบ ผลิตและพัฒนาโดย อีไล ลิลลี และใช้ได้ผลในรูปแบบเดียวกับยาเลแคเนแมบ (Lecanemab) ที่ผลิตโดย บริษัท ไอไซ แอนด์ ไบโอเจน ซึ่งกลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ทั่วโลก ในฐานะตัวยารักษาโรคอัลไซเมอร์ตัวแรกของโลกที่พิสูจน์แล้วว่าชะลออาการของโรคได้จริง
แม้ตัวยาเหล่านี้จะเป็นความหวัง แต่ก็ไม่สามารถรักษาโรคได้สิ้นเชิง รวมถึงยังมีความเสี่ยงในการใช้
สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ พวกเขาไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ แต่มีอาสาสมัคร 2 คน ที่เสียชีวิตจากอาการบวมในสมอง
ยารักษาโรคอัลไซเมอร์อีกตัว คือ อะดูแคนูแมบ ถูกทางการยุโรปปฏิเสธการใช้ จากความกังวลด้านความปลอดภัย และขาดหลักฐานเพียงพอว่ายาใช้ได้ผลกับคนไข้มากพอ
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์อธิบายว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุก 10-15% ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบ 20-30% ในประชากรที่อายุมากกว่า 80 ปี
ผลข้างเคียงและความเสี่ยงในการรักษา
สำหรับการทดลองตัวยาโดนาเนแมบนั้น นักวิจัยได้ตรวจอาการของประชาชน 1,736 คน อายุระหว่าง 60-85 ปี ที่กำลังป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ระยะแรกเริ่ม
ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งได้รับยาเดือนละครั้ง ส่วนอีกครั้งหนึ่งจะได้รับตัวยาหลอก เป็นระยะเวลา 18 เดือน
ผลการทดลอง เป็นดังนี้
1. ตัวยาดูเหมือนจะมีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อยก็กับผู้ป่วยบางคน
2. ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกเริ่ม และมีอะไมลอยด์ในสมองน้อยกว่า จะได้รับประโยชน์มากกว่า เพราะพบว่าอะไมลอยด์หายไปมากกว่า จากการสแกนสมองเพื่อตรวจสอบ
3. ผู้ป่วยที่ได้รับยาสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน รับโทรศัพท์ หรือทำงานอดิเรกได้
4. จากการสังเกตการณ์สิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ในแต่ละวัน ประเมินได้ว่าอาการของโรคอัลไซเมอร์ชะลอลง 20-30% และอาจถึง 30-40% สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มที่นักวิจัยบางคนมองว่าตัวยาใช้ได้ผลมากกว่า
5. การใช้ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญ และผู้ป่วยจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงในการรักษา
6. ผู้ป่วยที่ได้รับยาโดนาเนแมบครึ่งหนึ่ง สามารถยุติการรักษาได้หลังรับยาต่อเนื่อง 1 ปี เพราะตัวยาได้ขจัดอะไมลอยด์ออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อะไมลอยด์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น และยังไม่แน่ชัดว่า การรักษาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหากรักษาต่อไปในระยะยาวหรือไม่
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่า แม้ผลของยาอาจจะไม่มากนัก แต่ผลลัพธ์สำคัญคือ ข้อเท็จจริงว่า การขจัดอะไมลอยด์ในสมอง อาจเปลี่ยนพัฒนาการของโรคอัลไซเมอร์ และช่วยผู้ป่วยจากโรคร้ายนี้ได้ หากได้รับการรักษาในช่วงเวลาที่ถูกต้อง
ศาสตราจารย์ กิลส์ ฮาร์ดิงแฮม จากสถาบันวิจัยสมองเสื่อมแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า “น่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นผลลัพธ์ที่ตีพิมพ์อย่างละเอียด เรารอยารักษาอัลไซเมอร์มานานแล้ว มันจึงเป็นความหวังที่ได้เห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในแวดวงนี้ เรากำลังอยู่บนจุดเปลี่ยนที่น่าตื่นเต้นและการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อแนวทางรักษาผู้คนที่ได้รับผลกระทบ หรือเสี่ยงกับภาวะสมองเสื่อม”
ดร.ซูซาน โคห์ลฮาส จากสถาบันวิจัยโรคอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การประกาศในวันนี้ เป็นอีกก้าวย่างสำคัญ ผลจากการวิจัยนานหลายสิบปี ในที่สุด มุมมองต่อภาวะสมองเสื่อม และผลกระทบต่อผู้คนและสังคมกำลังเปลี่ยนไป เรากำลังก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ที่อัลไซเมอร์เป็นโรคที่รักษาได้”
รูป 4 ไมค์ ฉลองวันเกิดอายุ 80 ปี
ไมค์ คอลลีย์ มีอายุ 80 ปี เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ในงานสังสรรค์ฉลองวันเกิด เขาทำให้ครอบครัวประหลาดใจด้วยการร้องเพลง “มาย เวย์” ต่อหน้าแขกราว 40 คน
เขาบอกบีบีซีนิวส์ว่า “นั่นคือความมั่นใจที่ผมมีในตอนนี้ ผมคงร้องเพลงแบบนั้นไม่ได้เมื่อ 12 เดือนก่อน”
เคท ลี จากสมาคมอัลไซเมอร์ ระบุว่า ข่าวเกี่ยวกับยาโดนาเนแมบ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญต่อการวิจัยภาวะสมองเสื่อม แต่การรักษาใหม่นี้อาจไปไม่ถึงคนไข้ได้ทันเวลา หากยังพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยโรคให้ดีกว่าเดิมไม่ได้
ประชาชนในสหราชอาณาจักร 720,000 คน อาจได้รับประโยชน์จากแนวทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ใหม่นี้ แต่ก่อนจะเข้ารับการรักษาได้ จะต้องมีการตรวจสอบเฉพาะทางว่าผู้ป่วยแต่ละคนเหมาะสมเข้ารับการรักษาหรือไม่
“ไม่เพียงเท่านั้น ยาชะลออัลไซเมอร์ยังต้องให้ผู้ป่วยเข้ารับยา และสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบดูแลรักษาสุขภาพของสหราชอาณาจักร (NHS) ยังไม่พร้อมแบกรับภาระในระดับนี้”
สำหรับ เลแคเนแมบ ที่ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้รักษาในสหรัฐฯ แล้ว มีราคาต่อคอร์สการรักษาที่ 930,000 บาท
แต่ยังไม่แน่ชัดว่า ราคาของยาโดนาเนแมบจะอยู่ที่เท่าไหร่ และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนเพื่ออนุมัติการใช้รักษาในสหราชอาณาจักร แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์มองว่า การมีตัวยาที่ใช้ได้ 2 ตัว จะช่วยทำให้เกิดการแข่งขัน จนทำให้ราคาลดลงและเข้าถึงได้มากขึ้น
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/
ขอขอบคุณที่มาของภาพ :GETTY IMAGES