PBA ต่างจากไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้าอย่างไร อาการหัวเราะทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้สึกขำ หรือร้องไห้ออกมาทั้งที่ก็ไม่ได้เศร้า แบบนี้เรียกภาวะ PBA ที่อาจไม่ใช่อาการทางจิต แต่อาจเกิดจากโรคทางกายที่ผู้ป่วยเป็น มาทำความรู้จักกันว่า PBA คืออะไร
สาเหตุของโรค PBA เชื่อกันว่าเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงของโรค ได้แก่ การบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ โดยอาจกระทบกับการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex),โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน (Stroke),โรคความจำเสื่อมและโรคพาร์กินสัน, เนื้องอกในสมองบางชนิด,โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis)
ทั้งนี้ อาการของโรค PBA ผู้ป่วยอาจจะมีอาการร้องไห้หรือหัวเราะอย่างรุนแรง และควบคุมไม่ได้ โดยการร้องไห้หรือหัวเราะนั้นไม่เข้ากับสถานการณ์ และส่วนมากผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกอย่างที่แสดงออกจริง ๆ การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์ และเป็นอย่างยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้โดยมีอาการได้หลายครั้งต่อวัน
อย่างไรก็ตาม จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ภาวะ PBA แบบร้องไห้พบได้บ่อยกว่าแบบหัวเราะ และในบางคนอาจเจอภาวะ PBA ทั้งแบบร้องไห้และหัวเราะเลยก็ได้ แต่เคสนี้ก็พบได้ไม่บ่อยนัก
ผู้ป่วยโรค PBA นี้สามารถรักษาได้โดยพบแพทย์และอธิบายอาการกับแพทย์อย่างละเอียด เพื่อที่แพทย์จะได้แยกโรคระหว่าง PBA กับโรคทางอารมณ์อื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ได้ และควรทำไดอารี่บันทึกช่วงเวลาที่มีอาการนอกจากนั้น วิธีการรักษาด้วยยาก็ยังอาจช่วยให้อาการ PBA บรรเทาลงได้ จนผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ภาวะ PBA เป็นภาวะความผิดปกติที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยหลายคนจึงมักจะเก็บตัวเงียบ เพราะไม่อยากไปร้องไห้ หรืออยู่ ๆ ก็หัวเราะในที่สาธารณะ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม และอาจนำมาซึ่งปัญหาทางด้านอารมณ์ได้ ดังนั้น ผู้ป่วย PBA ควรดูแลตัวเองโดยการพูดคุยกับคนในครอบครัวให้เข้าใจภาวะ PBA ที่เราเป็น และเมื่อมีอาการ ก็สามารถใช้วิธีปรับเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดอาการได้ เช่น จากนั่งอยู่ก็ให้ลุกเดิน เดินอยู่ก็ให้นั่ง เป็นต้น หรือฝึกหายใจเข้า-ออกอย่างช้า ๆ ฝึกการผ่อนคลายในทุก ๆ วัน และที่สำคัญต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และพยายามอย่าขาดยา
แม้อาการ PBA จะเหมือนผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต แต่อย่างที่บอกว่า PBA ส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ทำให้ผู้ป่วยควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ไม่ได้ ซึ่งจะต่างจากโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ ที่เกิดจากสารเคมีในสมองเปลี่ยนไป และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์มักจะแสดงอารมณ์ได้ตรงกับที่รู้สึก คือ เศร้าก็ร้องไห้ สุขก็หัวเราะ และยังสามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองได้ ต่างจากผู้ป่วย PBA ที่ควบคุมอาการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองไม่ได้เลย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ส่วนใหญ่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังไปทำงานได้ ไปเรียนได้ ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ ในขณะที่ผู้ป่วยโรค PBA อาจมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผู้ป่วยจะร้องไห้โฮออกมาตอนไหนก็ไม่รู้ได้ หรือจะระเบิดเสียงหัวเราะจนทำให้คนรอบข้างแตกตื่นขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้ เป็นต้น
หากมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว ทางออกที่ดีที่สุด คือ เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและหาวิธีรักษาต่อไป เพื่อบรรเทาอาการหรือรักษาให้หาย เราจะได้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : - สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณุสข
- mayoclinic และ เว็บไซต์ https://health.kapook.com