ยาคุมกำเนิดลดภาวะหืดจับได้

Amy Norton, HealthDay News

          ผลการศึกษาขนาดใหญ่ครั้งใหม่แสดงว่า การใช้ยาคุมกำเนิดอาจช่วยผู้หญิงที่เป็นโรคหืดลดอาการทรมานจากภาวะหืดจับรุนแรงลงได้
          การศึกษากับผู้หญิงที่เป็นโรคหืดมากกว่า 83,000 คน พบว่า ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 ปี มักจะมีอาการกำเริบรุนแรงน้อยลง
          คณะผู้วิจัยเน้นว่า ความแตกต่างระหว่างผู้ใช้ยาคุมกำเนิดและผู้ที่ไม่ได้ใช้มีเล็กน้อย และการค้นพบไม่ได้พิสูจน์ความสัมพันธ์ของเหตุและผล
          อย่างไรก็ตาม มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่ายาคุมกำเนิดมีผลต่ออาการของโรคหืด Bright Nwaru ผู้เขียนรายงานการศึกษากล่าว
          เราทราบว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคหืดบางคนจะพบอาการกำเริบของตนเองเกิดขึ้น ณ เวลาที่แน่นอนในแต่ละรอบของประจำเดือน จึงสงสัยว่าระดับฮอร์โมนที่ผันผวนจะเป็นสาเหตุของการกำเริบ Nwaru จาก University of Gothenburg ประเทศสวีเดน กล่าวอธิบาย
          “หลักฐานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคหืดที่สัมพันธ์กับประจำเดือนบางคน พบว่า อาการบรรเทาลงด้วยการใช้ยาคุมกำเนิดฮอร์โมน” เขากล่าว
          การศึกษาล่าสุดนี้ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Thorax มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดจนถึงวันนี้ Nwaru กล่าว การศึกษาครั้งนี้ได้ติดตามผู้หญิงกลุ่มใหญ่ที่อายุมากกว่า 17 ปี และพบว่ายาคุมกำเนิดส่งผลต่อการป้องกัน “เล็กน้อย” เขากล่าว
          อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครแนะนำให้ผู้หญิงลองใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อจัดการกับโรคหืด
          Dr.Purvi Parikh โฆษกของ Allergy and Asthma Network กล่าวว่า “การค้นพบนี้เป็นแค่ความสัมพันธ์ จึงไม่ (มีหลักฐาน) เพียงพอที่จะใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อการรักษา”
          ตามความเห็นของ Dr.Parikh มีหลักฐานหลายด้านที่แสดงว่า ฮอร์โมนเพศของร่างกาย (อย่างเอสโตรเจน) มีผลต่อโรคหืด ก่อนจะเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เด็กผู้ชายมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคหืดมากกว่าเด็กผู้หญิง แต่หลังจากวัยหนุ่มสาวแล้วสถานการณ์จะกลับกัน ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้โรคหืดมักเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
          การตั้งครรภ์ยังมีบทบาทเช่นเดียวกัน 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหืดพบอาการของเธอดีขึ้น ในขณะที่มีผู้ตั้งครรภ์อีกจำนวนมากที่อาการแย่ลง Dr.Parikh ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คลินิกที่ NYU Grossman School of Medicine ในนครนิวยอร์กด้วย กล่าว
          เหตุใดฮอร์โมนต่าง ๆ ถึงมีความสำคัญ Dr.Parikh บอกว่า การผันผวนของฮอร์โมนสามารถส่งผลกระทบต่อเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า mast cell ซึ่งเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการแพ้ต่าง ๆ และโรคหืด
          เธอบอกว่า มีความจำเป็นที่แพทย์และผู้ป่วยจะต้องทราบว่า ฮอร์โมนมีผลกระทบต่อการควบคุมโรคหืดได้ แต่หลักฐานไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ฮอร์โมนเพื่อเป็นยารักษา เธอกล่าว
          การศึกษาในปัจจุบันครอบคลุมผู้หญิง 83,084 คน ที่เป็นโรคหืด อายุ 16 ถึง 45 ปี ในตอนเริ่มต้นการศึกษา 1 ใน 3 ของผู้หญิงเหล่านี้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน คณะทำงานของ Nwaru ได้ใช้บันทึกของโรงพยาบาลและการสั่งยาเพื่อติดตามว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้มีภาวะหืดจับอย่างไรในช่วงเวลา 17 ปี

          โดยทั่วไป นักวิจัยได้พบว่า ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบผสม (ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสติน) มีโอกาสน้อยกว่าเล็กน้อยที่จะเกิดภาวะหืดจับรุนแรง” คำว่ารุนแรงหมายถึง อาการแย่จนต้องเข้าแผนกฉุกเฉินหรือเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือรับการรักษาด้วย corticosteroids ชนิดรับประทาน
          การใช้ยาในระยะยาวมากขึ้นให้ผลช่วยป้องกันได้เพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 ปี มีโอกาสน้อยลงร้อย 6 ถึง 9 ที่จะเกิดภาวะหืดจับรุนแรง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้
          ซึ่งแสดงให้เห็นผลเพียงแค่เล็กน้อย Nwaru กล่าว และบอกว่าจำเป็นต้องมีการศึกษามากขึ้นเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ดังกล่าว
          เช่นเดียวกับ Dr.Parikh กล่าว Nwaru ไม่เห็นว่าการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนให้ใช้ยาคุมกำเนิดเป็นยารักษาโรคหืด แต่บอกว่าคณะผู้วิจัยควรจะพยายามทำความเข้าใจมากขึ้นถึง “กระบวนการทางชีวภาพ” ที่ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดมีผลต่อโรคหืด
          สำหรับตอนนี้ Prof.Parikh สนับสนุนให้ผู้ป่วยหญิงพูดคุยกับแพทย์ของเธอว่ายังคุมอาการของโรคหืดได้ดีอยู่หรือไม่
          “ผู้หญิงมักเป็นผู้ที่ดูแลคนอื่นและไม่ใส่ใจสุขภาพของตนเองเพื่อจะได้คอยดูแลคนอื่น ๆ” เธอกล่าวและว่า “ดังนั้น ถ้าคุณตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนด้วยอาการหืด หายใจไม่ค่อยออกจากการทำงานบ้านประจำวันหรือเล่นกับลูก ๆ หรือใช้ยา albuterol ขยายหลอดลมมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าโรคหืดไม่อยู่ในการควบคุมและคุณควรจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”