ก่อนที่เทคโนโลยีจะย่อโลกสู่ดิจิทัล เราต้องคอยพกบัตรหลายใบเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์เพื่อช่วยระบุว่าเราเป็นใคร มีสิทธิประโยชน์อะไร
แต่บัตรที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ "บัตรแสดงข้อมูลการแพ้ยา" ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตเจ้าของบัตรได้ทันทีในทุกนาทีฉุกเฉิน
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์แม่นยำ (Pharmacogenomics and Precision Medicine) ลำดับต้นๆ ของเมืองไทย
และเป็นที่รู้จักในเวทีโลกในฐานะเจ้าของแนวคิด "Chonlaphat Card" หรือบัตรเภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics Card) ที่ระบุข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วยกับการแพ้ยาและการตอบสนองต่อยาซึ่งสามารถนำติดตัวได้ทุกที่
ล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรชลภัทร สุขเกษม สามารถคว้ารางวัล Nagai Award Thailand 2021, Nagai Foundation ประเทศญี่ปุ่น จากผลงานวิจัย “การค้นพบตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมต่อการเกิดผลข้างเคียงผื่นผิวหนังรุนแรงจากยาไคลโตรมอกซาโซนในผู้ป่วยชาวไทย” (Genetic Association of Co-Trimoxazole-Induced Severe Cutaneous Adverse Reactions Is Phenotype-Specific: HLA Class I Genotypes and Haplotypes)
จากโจทย์วิจัยที่พบว่าคนไทยมีอุบัติการณ์ผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งอาการที่พบเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากเกิดแผลผื่นคันอย่างรุนแรงทั่วร่างกาย จนถึงกับอาจต้องทุพพลภาพตาบอด และถึงแก่ชีวิตได้ในบางราย
จึงเกิดความคิดที่จะใช้ศาสตร์ทางด้าน Pharmacogenomics เพื่อ "ตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม" ศึกษาข้อมูลทางพันธุศาสตร์จนสามารถค้นพบยีน HLA-B*13:01 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังจากยาไคลโตรมอกซาโซนได้ถึง 40 เท่า ในผู้ป่วยไทย เพื่อการป้องกันแนวโน้มที่จะนำไปสู่การแพ้ยาดังกล่าว และผลักดันสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนั้นยังได้ทำงานวิจัยต่อยอดเพื่อศึกษากลไกการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังจากยาไคลโตรมอกซาโซนในระดับโมเลกุล ณ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร รวมทั้งมีความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อทำการศึกษายืนยันในกลุ่มประชากรเชื้อชาติอื่นอีกด้วย อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย ฯลฯ
ขณะนี้ผลงานการศึกษาวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรชลภัทร สุขเกษม ได้เดินทางมาสู่การพัฒนา "ชุดตรวจการแพ้ยาไคลโตรมอกซาโซน" ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังของคนไทย โดยได้ผ่านการทดสอบแล้วในระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมขยายผลสู่ต่างประเทศ อีกทั้งยังดำเนินการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจคัดกรอง โดยจะทำให้เกิดผลในเชิงนโยบายในประเทศไทยต่อไป
ซึ่งผลจากการวิจัย จะทำให้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ครอบคลุมการตรวจยีนเพื่อระบุการแพ้ยา ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรค่าแก่การลงทุนเพื่ออนาคตของประชาชนคนไทย ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์ นอกจากคนไทยที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ในระดับยีนแล้ว ยังครอบคลุมผู้ติดเชื้อ HIV ของไทยที่จำเป็นต้องใช้ยาไคลโตรมอกซาโซนเพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสอีกด้วย
การที่ผู้ป่วยได้ทราบข้อมูลทางพันธุกรรมของตนเอง และมีบัตรเภสัชพันธุศาสตร์พกติดตัวสามารถนำไปแสดงให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบความเสี่ยงในการรับยาทุกที่ และทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล หรือร้านขายยา ก็สามารถช่วยให้เขาปลอดภัยจากการใช้ยา และลดโอกาสการพิการหรือเสียชีวิตได้แล้ว
"ไม่ว่าผลการวิจัยจะสามารถนำไปต่อยอดทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงใด ก็ไม่สุขใจเท่ากับการได้ทราบว่างานวิจัยที่ตัวเองทำนั้นมีคุณค่า และเกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติเพียงใด" รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรชลภัทร สุขเกษม กล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป