นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการจัดประชุมการประชุมวิชาการประจำปี HTAsialink (HTAsiaLink Annual Conference) ครั้งที่ 10 ประจำปี 2565 ร่วมกับองค์การอนามัยโลก มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และภาคส่วนต่างๆ โดยในปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ที่พัทยา จ.ชลบุรี ภายใต้แนวคิด “บทบาทของ HTA ใน New normal” (หรือ The Role of HTA in the New Normal : Driving the post COVID health system through evidence-informed decisions) ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคและนานาชาติ มีนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลกกว่า 300 คนจาก 20 ประเทศเข้าร่วม เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ และร่วมอภิปรายในหัวข้อที่กำหนด อาทิ การพลิกโฉมระบบสาธารณสุขหลังโควิด19 และ HTA การผลักดันการวิเคราะห์ระบบ Global HTA โดยอิงข้อมูลหลักฐานจากการใช้จริงในภูมิภาค HTA ทั่วโลก และเทคโนโลยีในยุคใหม่ใช่ทางออกของระบบสาธารณสุขหรือไม่ เป็นต้น
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการให้โอกาสนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment หรือ HTA) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยท่านอื่น เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในทวีปเอเชีย และพัฒนาขีดความสามารถด้านวิชาการแก่นักวิจัย โดยภายในงานมีทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบรรยาย การอบรมพัฒนาทักษะด้านการวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การนำเสนอและประกวดผลงานวิจัย และนิทรรศการจากเครือข่ายร่วมจัดแสดงด้วย ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม ทั้งนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงในประเทศไทยจากงานวิชาการการให้ข้อมูลที่ทันการณ์และความร่วมมือของเครือข่าย HTA ในประเทศไทย นำโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และระดับนานาชาติผ่านเครือข่าย HTAsiaLink เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความยินดีที่จะให้ทุนสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กล่าวว่า โรคโควิด 19 ได้สอนเราอย่างหนึ่งว่า ระบบสุขภาพของเราต้องสามารถรับมือกับความท้าทายทั้งที่คาดได้และไม่คาดคิด และเราต้องสร้างสรรค์ในการให้บริการด้านสาธารณสุข มีการนำเทคโนโลยีและวิธีการให้บริการด้านสาธารณสุขใหม่ๆ มาใช้ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 และยังคงมีการใช้ต่อไป เช่น การแพทย์ทางไกลกลายเป็นแนวทางที่มีความสำคัญ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านสุขภาพก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด นักวิจัยด้าน HTA ต้องติดตามความก้าวหน้าให้ทัน หรือกระทั่งต้องก้าวนำหน้าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ HTA เป็นศาสตร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีระเบียบวิธีวิจัยใหม่ๆ เช่น การใช้ข้อมูลจากสถานการณ์จริง ซึ่งจะช่วยให้ HTA ตอบโจทย์ในบริบทได้ดียิ่งขึ้น ในการประชุมวิชาการประจำปี HTAsiaLink นี้ จะมีการอภิปรายในประเด็นสำคัญเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อผู้ใช้และนักวิจัยด้าน HTA