รพ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จัดบริการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

www.medi.co.th

สปสช.เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของโรงพยาบาลแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ชี้เป็นโรงพยาบาลที่สามารถจัดบริการได้เร็วและมีผลงานเป็นอันดับต้นๆของประเทศ สามารถเป็นต้นแบบแก่หน่วยบริการอื่นๆได้


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมผู้บริหาร สปสช. เขต 3 นครวรรค์ เดินทางลงพื้นที่ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการรากฟันเทียมของโรงพยาบาลแม่วงก์ ตามโครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567


ทพ.อรรถพร กล่าวว่า คณะกรรมการ สปสช. ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดใส่รากฟันเทียมมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว โดยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย ซึ่งได้บรรจุเข้าบัญชีนวัตกรรมไทยเมื่อเดือน ก.ค. 2565


ขณะเดียวกัน การผ่าตัดรากฟันเทียมก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ด้วย การดำเนินโครงการจึงเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อเดือน ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาลแม่วงก์ถือเป็นหนึ่งในหน่วยบริการที่สามารถจัดบริการได้อย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆของประเทศ สามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยบริการอื่นได้ว่าสิทธิประโยชน์นี้สามารถดำเนินการได้จริง เห็นผลได้จริง


“โครงการนี้มีเจ้าภาพหลายฝ่าย ทั้งกรมอนามัย กรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนารากฟันเทียม

ทพญ.กชกร แถวสุวรรณ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในส่วนของ จ.นครสวรรค์ มี 3 โรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดใส่รากฟันเทียมได้ คือ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ และ โรงพยาบาลแม่วงก์ ซึ่งหลังจากได้รับการจัดสรรรากฟันเทียมเมื่อ 18 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ก็เริ่มประชุมชี้แจงการดำเนินงานกับทีมทันตกรรมระดับจังหวัดรวมทั้ง Service Plan โดยระบบให้ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลทั้ง 15 อำเภอ ช่วยประเมินสุขภาพช่องปากและทำฟันเทียมก่อน แต่ถ้าฟันเทียมยังหลวมหรือหลุดก็จะส่งตัวมาที่หน่วยบริการทั้ง 3 แห่งนี้เพื่อผ่าตัดใส่รากฟันเทียม


ทพญ.กชกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับความพร้อมของ 3 โรงพยาบาลที่ดำเนินการเรื่องรากฟันเทียมนั้น ในส่วนของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์  มีเครื่องเอกซเรย์ 3 มิติ เครื่องมอเตอร์สำหรับทันตกรรมรากฟัน แต่อยู่ระหว่างจัดซื้อชุดศัลยกรรมรากเทียม PRK ขณะนี้ผ่าตัดแล้ว 1 ราย โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ มีชุดศัลยกรรมรากเทียม PRK แต่อยู่ระหว่างจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ 3 มิติ และเครื่องมอเตอร์ ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดยังไม่ได้ทำฟันเทียมแต่จะช่วยผ่าตัดฝังรากฟันเทียมให้ ขณะที่โรงพยาบาลแม่วงก์ มีอุปกรณ์ครบถ้วน ขณะนี้ผ่าตัดใส่รากฟันเทียมได้แล้ว 24 ราย


สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตนั้น หลังจากผู้ป่วยรับการฝังรากฟันเทียมแล้ว ในปีแรกยังคงให้ 3 โรงพยาบาลนี้ติดตามอาการ แต่ปีที่ 2-5 จะพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลอำเภอให้สามารถติดตามอาการคนไข้ได้ รวมทั้งในปีงบประมาณ 2567 จะขยายจำนวนโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดรากฟันเทียมอีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลลาดยาว โรงพยาบาลบรรพตพิสัย และโรงพยาบาลตาคลี ซึ่งจะทำให้มีหน่วยผ่าตัดรากฟันเทียมเพิ่มเป็น 6 แห่ง

ทพ.ธนวัฒน์ มหัสฉริยพงษ์ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวว่า กลุ่มงานทันตกรรมของโรงพยาบาลแม่วงก์ดำเนินการเกี่ยวกับรากฟันเทียมมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ที่ได้เข้าร่วมโครงการข้าวอร่อย และผ่าตัดใส่รากฟันเทียมได้ 130 ราย ต่อมามีการพัฒนา Mini-implant+Equator ซึ่งเป็นรากเทียมรุ่นถัดมาโรงพยาบาลแม่วงก์ให้บริการผู้ป่วยอีก 30 ราย จากนั้นในปีต่อมาก็เข้าร่วมกับ ADTEC สวทช. ในโครงการรากฟันเทียมเดี่ยว STELLA ในผู้สูงอายุ 60 ปี ให้บริการ 10 ราย ปี 2562 เข้าร่วมโครงการ BIG ROCK และฝังรากฟันเทียม NOVEM อีก 89 ราก จากนั้นปี2563 ยังเข้าร่วมโครงการฝังรากฟันเทียมผู้สูงอายุ 60 ปี กับ ADTEC สวทช. โดยใช้รากเทียม PRK ให้บริการไปอีก 58 ราก


“จากอดีตถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลแม่วงก์ให้บริการฝังรากฟันเทียมไปแล้วรวมทั้งหมด 450 ราก และปัจจุบันเราเข้าร่วมโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ขณะนี้ให้บริการผู้ป่วยไปแล้วจำนวน 24 ราย หรือ 48 ราก”ทพ.ธนวัฒน์ กล่าว


ด้าน นพ.ประวิทย์ สายคุณากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่วงก์ กล่าวว่า โรงพยาบาลแม่วงก์เป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็ก แต่มีผลงานในการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมมาอย่างยาวนาน ทำให้ได้รับการสนับสนุนเครื่องสแกน 3 มิติ ในการดำเนินโครงการรากฟันเทียมจาก สวทช. ทำให้มีศักยภาพในการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันคิวผ่าตัดในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพก็ค่อนข้างยาวนาน ดังนั้นแม้โรงพยาบาลแม่วงก์จะอยู่ค่อนข้างห่างไกล แต่ก็พร้อมให้บริการสิทธิประกันสังคมและข้าราชการด้วย