“สารพิษ”ในโลกนี้มีอยู่มากมายหลากหลาย ชนิด พิษแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน การเกิดพิษก็จะมีความแตกต่างกันไป ความรู้และความเข้าใจทาง“พิษวิทยาคลินิก”จะเป็นพื้นฐานในการใช้อธิบายพิษของสารเคมีแต่ละชนิด ช่วยในการตรวจวินิจฉัยว่าผู้ที่ได้รับพิษเป็นพิษชนิดใด ซึ่งจะมี“ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาคลินิก” เป็นตัวช่วยสำคัญในการตรวจวิเคราะห์พิษจากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยพิษของสารเคมีแต่ละชนิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษนั้นๆ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากรอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่าปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่างๆเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิด“ภาวะเป็นพิษ”กระทบต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์และพืช ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ความรู้และความเข้าใจทางพิษวิทยาคลินิก จะช่วยในการตรวจวินิจฉัย และรักษา ผู้ที่ได้รับสารพิษและโรคอันเนื่องมาจากสารพิษต่างๆได้
โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีสังกัดกรมการแพทย์ได้มีการจัดตั้ง“ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาคลินิก” ตามแนวทางของแผนความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545) ซึ่งกำหนดให้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเป็นศูนย์พิษแห่งชาติ เพื่อให้บริการตรวจวินิจฉัยการเป็นพิษในร่างกายผู้ป่วยและรักษาต่อได้ถูกต้อง การทำงานของศูนย์พิษวิทยาคลินิกโรงพยาบาลนพรัตนฯจะมีความแตกต่างออกไปจากศูนย์พิษฯอื่นๆ โดยจะเน้นกลุ่มพิษสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม พิษสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น และยังช่วยในงานวิจัย เพื่อค้นหาโรคใหม่ๆจากสารเคมีด้วย
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีกล่าวว่า“ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาคลินิก” ดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานโดยกลุ่มงานพยาธิวิทยาคลินิกและเทคนิคการแพทย์โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยมีแผนจะพัฒนาให้สามารถตรวจหาสารเคมีที่จำเป็นได้ทั้งหมด ในเบื้องตนมีการพัฒนาให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจใน 2 กลุ่มหลักๆได้แก่ 1.กลุ่มสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) สิ่งส่งตรวจคือปัสสาวะ ในพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมอีเลคโทนิก เซมิคอนดัคเตอร์ ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีใช้แพร่หลายที่สุด “ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาคลินิก” ยังช่วยสนับสนุนและสัมพันธ์กับคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อวินิจฉัยโรคที่เกิดจากสารเคมีในการทำงานและในสิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนทำงานและประชาชนได้รับการดูแลอย่างครบวงจรเมื่อเกิดโรค รวมทั้งมีการวิจัยศึกษาเชิงระบาดเพื่อยับยั้งป้องกันไม่ให้คนอื่นๆ มีการสัมผัส สารเคมีเพิ่มขึ้นด้วย 2. กลุ่มสารสำคัญจากน้ำมันกัญชา (Canabis oil) สิ่งส่งตรวจคือน้ำมันกัญชาหาปริมาณสารสำคัญกลุ่มCannabinoid ได้แก่ CBD (Cannabidiol), THC (Tetrahydrocannabinol)และกลุ่ม Terpenes เพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ การวิจัยวิเคราะห์ทางคลินิก ในส่วนที่เป็นสารเทอร์ปีน(Terpenes) เนื่องจากสารตัวนี้ทำได้เฉพาะที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลนพรัตนฯเท่านั้น ส่วนการตรวจเลือดให้กับผู้ป่วยที่ได้รับยาน้ำมันกัญชา เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ตรวจปริมาณกัญชาว่าเกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนกำลังพัฒนา คาดว่าภายในปีพ.ศ. 2566 จะสามารถให้บริการได้
นายแพทย์เกรียงไกรกล่าวต่อไปว่าในอนาคตการทำงาน“ห้องปฏิบัติการพิษวิทยาคลินิก”โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มองไว้คือการตรวจหาชนิดของอนุภาค PM2.5 ซึ่งเกิดจากสารหลายชนิดขึ้นกับแหล่งกำเนิด โดยจะเน้นไปที่ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยจะนำฝุ่น PM 2.5 ณ จุดนั้นๆมาวิเคราะห์ เพื่อตรวจหาว่ามีสารกลุ่ม PAHs ที่ก่อโรคมะเร็งได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นข้อมูลในการเตือนภัยให้ประชาชนทราบว่าจุดไหนที่เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษ เพื่อจะได้ตระหนักในการป้องกันตัวเองและช่วยกันหยุดหรือลดฝุ่นตัวนี้ให้ได้