ม.มหิดล ส่งเสริมชุมชนเกษตรปลอดการเผา สื่อสารด้วยความเข้าใจ ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า


ช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว มักพบภัยจากฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร เพื่อกำจัดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้ทันต่อการปลูกเพาะปลูกรอบถัดไป


ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2564 และ พ.ศ. 2565 ชี้ให้เห็นนิมิตหมายอันดีว่า พื้นที่ประเทศไทยพบจุดความร้อน (hot spot) ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการเผาในพื้นที่เกษตรก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกันคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพยายามนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทดแทนการเผา
“โครงการพฤติกรรมเชิงลึกของเกษตรกรและคนในชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรปลอดการเผา” สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากการลงพื้นที่ดำเนินการวิจัยและถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนเกษตรปลอดการเผาในจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 - มีนาคม 2565 เพื่อรวบรวมและประมวลทางเลือกในการจัดการตอซังฟางข้าว ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้ได้มากที่สุด
ความสำเร็จจากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา นอกจากการได้รับตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัย ซึ่งได้ทำความเข้าใจพฤติกรรมการจัดการตอซังฟางข้าวในแต่ละรูปแบบ และเสนอแนวทางการสื่อสารเพื่อการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว ยังได้จัดทำเป็น "คู่มือฟางข้าว ..ทำอะไรได้บ้าง" เพื่อเป็นแนวคิดให้เกษตรกรได้นำไปสร้างสรรค์ต่อยอด “ทำฟางข้าวให้เกิดเป็นรายได้” เลี้ยงชุมชนได้ต่อไป
ตัวอย่างแนวคิดการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย ได้แนะนำไว้ในคู่มือได้แก่ ใช้ฟางข้าวคลุมดิน เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ดไถกลบฟางข้าว ทำปุ๋ยหมักฟางข้าว อัดฟางข้าวขาย และทำผลิตภัณฑ์ เช่น แปรรูปฟางข้าวสู่กระถางชีวภาพ ที่นอกจากใช้เป็นภาชนะปลูกพืชแล้ว ยังสามารถอุ้มน้ำให้ความชุ่มชื้นต่อพืชในกระถางไปด้วยในตัว ซึ่งหากสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว จะยิ่งทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
“กลยุทธ์ในการสื่อสารสู่ชุมชนเกษตรปลอดการเผาเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โดยโครงการฯ ได้เสนอให้ใช้ทั้ง “เชิงรุก” ส่งเสริมเกษตรกรที่นำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ แล้วให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง “เชิงแก้ไข” จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการเรียนรู้การใช้ประโยชน์ฟางข้าว “เชิงป้องกัน” ทำให้การใช้ประโยชน์ฟางข้าวเป็นที่ยอมรับ และ “เชิงรับ” สร้างผลตอบแทนการใช้ประโยชน์ฟางข้าวให้ชัดเจนขึ้น และจัดการการเผาอย่างเป็นระบบ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า แม้การเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติอาจยังจำเป็นสำหรับการทำเกษตรในบางพื้นที่ซึ่งหากมีการวางแผนการเผาโดยผ่านการปรึกษาหารือทำความเข้าใจร่วม กันถึงความจำเป็นของการเผาและการอยู่ร่วมกันในชุมชนได้อย่างเกื้อกูลกัน อาจช่วยลดปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ
ทำอย่างไรให้การเผาในพื้นที่เกษตรไม่เกิดขึ้นเลยคงเป็นไปไม่ได้โดยง่าย แต่การสื่อสารให้เกิดความ “ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ด้วยความเข้าใจ และมองเห็นประโยชน์ของการใช้ทรัพยากรไม่ให้สูญเปล่า จะทำให้โลกใบนี้สามารถคงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล