สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “จำนวนเกิดในประเทศไทยดิ่งต่ำลงจนน่าตกใจ” พบกับเสวนาพิเศษ "สถานการณ์การลดลงของประชากรไทย 2565" ภายใต้กิจกรรม Talk with the Prachakorn โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อารีจำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนากับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันฯ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักประชากรศาสตร์ผู้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงประชากรไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงประชากรไทย จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่สำนักบริหารการทะเบียน ได้ประกาศจำนวนราษฎรของประเทศไทย ทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของกรมการปกครอง เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประเทศไทยมีประชากรสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียน 66,080,812 คน
ในปี 2565 มีคนเกิด 502,107 คน และมีคนตาย 595,965 ราย
ประเด็นที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ต้องการจะชี้ให้เห็น
1. วันเวลาที่สำนักบริหารการทะเบียนประกาศข้อมูลประชากร
ตั้งแต่ปี 2565 และปี 2566 สำนักบริหารการทะเบียนได้ประกาศข้อมูลจำนวนราษฎรรายอายุของเขตพื้นที่ต่างๆ และจำนวนคนเกิด คนตายในปีก่อนหน้า ภายในเวลาไม่เกิน 1 อาทิตย์ของปีใหม่ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ประกาศข้อมูลของประชากรดังกล่าวนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะในราวเดือนมีนาคมของปีใหม่
2. จำนวนเด็กเกิดในปี 2565 ลดต่ำลงกว่าจำนวนเกิดในปี 2564 อย่างมากจนน่าตกใจ
ปี 2506-2526 มีเด็กเกิดปีละมากกว่าล้านคน (ประชากรรุ่นเกิดล้าน) ปี 2560 เด็กเกิด 702,761 คน ปี 2562 เด็กเกิด 618,192 คน ปี 2564 เด็กเกิด 544,570 คน และ ปี 2565 เด็กเกิด 502,107 คน
ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยได้ลด “ดิ่ง” ลงอย่างน่าตกใจ ในปี 2560 มีเด็กเกิดลดต่ำลงจนแตะหลัก 7 แสนคน อีกเพียง 4 ปีต่อมา ในปี 2564 จำนวนเด็กเกิดลดลงจนมาแตะที่หลัก 5 แสนคน
เมื่อเทียบกับจำนวนเกิดในแต่ละปีเมื่อ 40-50 ปีก่อนแล้ว จำนวนเด็กเกิดของประเทศไทยได้ลดลงอย่างน่าใจหาย ช่วงเวลา 20 ปีระหว่างปี 2506-2526 มีเด็กเกิดในไทยเกิดปีละเกินกว่า 1 ล้านคน ในปี 2514 จำนวนเกิดขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 1.2 ล้านคน
เด็กเกิดในไทยในปี 2565 เป็นจำนวนไม่ถึงครึ่งของจำนวนเด็กเกิดในช่วงปี 2506-2526
ดูแนวโน้มแล้วจำนวนเด็กเกิดจะลดต่ำลงอีกในปีต่อๆ ไป
3. อัตราเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทยลดลงจนเหลือประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราเจริญพันธุ์ระดับทดแทน
“อัตราเจริญพันธุ์รวม” (Total fertility rate - TFR) ที่เท่ากับ 2.1 คือ อัตราเจริญพันธุ์ระดับทดแทน หมายความว่า ผู้หญิงคนหนึ่งมีบุตร 2.1 คนโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิต เท่ากับจำนวนที่จะทดแทนพ่อและแม่
ในปี 2565 มีเด็กเกิด 502,107 คน เมื่อคำนวณเป็น “อัตราเจริญพันธุ์รวม” แล้วจะได้เท่ากับ ผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีบุตรโดยเฉลี่ยเพียง 1.1 คน ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา “อัตราเจริญพันธุ์รวม” ของผู้หญิงไทยได้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วมาก
เมื่อ 50 ปีก่อน ผู้หญิงไทยเคยมีบุตรเฉลี่ยมากกว่า 5 คน โดยในปี 2534 อัตราเจริญพันธุ์รวมลดเหลือ 2.2 คน ปี 2553 อัตราเจริญพันธุ์รวมลดเหลือ 1.6 คน
ปี 2564 อัตราเจริญพันธุ์รวมลดเหลือ 1.2 คน และ ปี 2565 อัตราเจริญพันธุ์รวมลดเหลือ 1.1 คน
“อัตราเจริญพันธุ์รวม” ที่เท่ากับ 1.1 ในปี 2565 นี้อยู่ในระดับต่ำมาก ใกล้เคียงกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น 1.2 จีน 1.1 สิงคโปร์ 1.1 ไต้หวัน 1.0 ฮ่องกง 1.0 และเกาหลีใต้ 0.9
4. จำนวนคนตายในปี 2565 สูงขึ้นอย่างมากจนเกือบแตะหลัก 6 แสนแล้ว
ปี 2560 คนตาย 468,911 ราย
ปี 2562 คนตาย 506,211 ราย
ปี 2564 คนตาย 563,650 ราย
ปี 2565 คนตาย 595,965 ราย
จำนวนคนตายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะโครงสร้างอายุของประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนคนตายเพิ่งแตะหลัก 5 แสนรายเมื่อปี 2562 มานี้เอง ปี 2565 นี้ คนตายมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเกือบแตะหลัก 6 แสนรายแล้ว
จำนวนคนตายน่าจะถึงหลัก 6 แสนรายในปีหน้า และถึงหลัก 7 แสนรายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
5. จำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดเท่ากับ “อัตราเพิ่มตามธรรมชาติ” ของประชากรไทยติดลบเป็นปีที่ 2
ปี 2564 เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย จนทำให้อัตราเพิ่มประชากรติดลบ เท่ากับว่าประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงแล้ว เมื่อไม่นับรวมการย้ายถิ่นเข้าจากนอกประเทศ ปี 2565 ช่องว่างระหว่างจำนวนเกิดและตายของประเทศไทย ยิ่งกว้างขึ้น คนตายมากกว่าคนเกิดในปีนี้มากถึง 93,858 คน ในปี 2565 อัตราเกิดเท่ากับ 7.6 ต่อประชากร 1,000 คน และอัตราตายเท่ากับ 8.9 ต่อประชากร 1,000 คน ทำให้อัตราเพิ่มตามธรรมชาติ (อัตราเกิด - อัตราตาย) เท่ากับ - 0.1%
ปัจจุบันนี้ ประชากรในประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศมีอัตราเพิ่มตามธรรมชาติ (ไม่รวมการย้ายถิ่น) ติดลบ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน
ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่มีอัตราเพิ่มประชากรติดลบแล้ว
6. ปี 2566 ประชากรรุ่นเกิดล้านจะเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นปีแรก
ในช่วง 20 ปี ระหว่างปี 2506 ถึง 2526 ประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละเกินกว่า 1 ล้านคน ที่เรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ “สึนามิประชากร” ของประเทศไทย
ปี 2566 นี้จะเป็นปีแรกที่เด็กเกิดปี 2506 จะกลายเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะมีคนเกือบๆ ล้านคนเข้าสู่วัยสูงอายุ เมื่อคลื่นยักษ์หรือสึนามิประชากรเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งผู้สูงอายุแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีคนไทยเข้าสู่วัยสูงอายุเกือบล้านคนในแต่ละปี
วันนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 20% อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อ 1 ใน 3 ของประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุ