หลังจากมีหลักฐานการศึกษาเชิงสังเกต (observational study) ที่แสดงให้เห็นว่า การใช้ metformin ยาลดน้ำตาลในเลือดที่ถือเป็นเสาหลักของการรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายมาเป็นเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน มีความเชื่อมโยงกับการชะลอลงของภาวะรู้คิดถดถอย (cognitive decline) และอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อม (dementia) คณะนักวิจัยในออสเตรเลียได้เริ่มทำการศึกษาทางคลินิกในระยะที่ 3 เพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับผลของยา metformin ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม
ในเดือนตุลาคม ปี 2022 คณะนักวิจัยของ Garvan Institute of Medical Research สถาบันวิจัยทางการแพทย์ชั้นนำในออสเตรเลียภายใต้การนำของ ศ.พญ. Katherine Samaras (หัวหน้าห้องปฏิบัติการทางด้าน Clinical Obesity, Nutrition and Adipose Biology ของ Garvan Institute of Medical Research และเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน endocrinology ของ St Vincent's Hospital ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย) ได้เริ่มคัดเลือกผู้ที่จะเข้าร่วมในการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 (phase III clinical trial) เพื่อทดสอบว่ายา metformin สามารถชะลอกระบวนการภาวะรู้คิดถดถอย ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่มีความจำเพาะต่อการพัฒนาไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้จริงหรือไม่
การศึกษานี้มีชื่อว่า Preventing Cognitive Decline With Metformin (MetMemory) ซึ่งเป็น interventional clinical trial แบบ randomized controlled trial เปรียบเทียบระหว่าง metformin (ยา metformin ในรูปแบบ extended-release tablet ขนาด 500 ถึง 2,000 mg/day) และ placebo โดยเป็นการศึกษาทางคลินิกที่ร่วมมือกันทำระหว่าง Garvan Institute of Medical Research และศูนย์ Centre for Healthy Brain Ageing (CHeBA) ของ University of New South Wales (UNSW Sydney) และได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจาก National Health and Medical Research Council ของออสเตรเลีย ซึ่งคณะผู้วิจัยตั้งเป้าว่าจะคัดเลือกอาสาสมัครจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 242 คน เข้าร่วมในการศึกษานี้ที่จะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี
MetMemory มีเกณฑ์คัดเข้า (inclusion criteria) หลัก ๆ สำหรับอาสาสมัครผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการศึกษา ได้แก่ มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนลงพุง [ดัชนีมวลกาย (body mass index หรือ BMI) มากกว่า 25.0 kg/m2, รอบเอว ผู้หญิงมากกว่า 80 เซนติเมตร ผู้ชายมากกว่า 94 เซนติเมตร], มีภาวะ mild cognitive impairment (mild neurocognitive disorder) จากการประเมินด้วย DSM-5 criteria เช่น เริ่มมีอาการหลงลืม เสียความจำระยะสั้น ลืมสถานที่ที่คุ้นเคย แต่สุดท้ายอาจจะนึกได้, ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน (fasting blood glucose น้อยกว่า 7.0 mmol/L and HbA1c น้อยกว่า 6.5%) และไม่ได้อยู่ระหว่างการใช้ยา metformin
ศ.พญ. Katherine Samaras กล่าวว่า ทีมงานวิจัยของ Garvan Institute of Medical Research และ CHeBA กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประโยชน์ของยา metformin ที่อาจจะมีผลอย่างแท้จริงในการชะลอหรือหยุดกระบวนการของ cognitive decline ที่ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใด ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอหรือหยุดกระบวนการนี้
“ยา metformin ได้รับการรับรองจาก Therapeutic Goods Administration (TGA) หน่วยงานด้านยาของออสเตรเลีย และ metformin เป็นหนึ่งในยาที่แพทย์ทั่วโลกนิยมสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยมากที่สุด เนื่องจาก metformin เป็นยาที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และมีราคาถูกสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 มานานถึงประมาณ 60 ปีแล้ว โดย metformin สามารถลดการหลั่งกลูโคสจากตับ และช่วยให้เซลล์มีการตอบสนองที่ดีขึ้นต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือด” ศ.พญ. Katherine Samaras กล่าว
คณะนักวิจัยของ Garvan Institute of Medical Research และ CHeBA ตัดสินใจร่วมกันทำการศึกษาทางคลินิกในระยะที่ 3 เกี่ยวกับผลของยา metformin ในการชะลอหรือหยุดกระบวนการ cognitive decline หลังจากมีผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา metformin ในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 และการชะลอของกระบวนการ cognitive decline และอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมที่ลดลง ซึ่งรายงานออกมาในวารสาร Diabetes Care ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 โดยผลของการศึกษาที่มีชื่อว่า Sydney Memory and Ageing Study ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ prospective observational study ที่ดำเนินการโดย ศ.พญ. Katherine Samaras และคณะ ที่ใช้เวลาในการศึกษานานถึง 6 ปี แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ได้รับยา metformin มีอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อมอยู่ที่ 6% (4 คน) ซึ่งน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ไม่ได้รับยา metformin (14.5%; 8 คน ) และยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 และได้รับยา metformin (8.2%; 73 คน)
ในแง่การลดลงของความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม แปลผลได้ว่า การใช้ยา metformin ในผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 และเป็นผู้สูงอายุ (อายุระหว่าง 70-90 ปี) สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมลงได้ถึง 81% (hazard ratio 0.19, p = .03) เมื่อเทียบกับผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 และเป็นผู้สูงอายุ (อายุระหว่าง 70-90 ปี) ที่ไม่ได้ใช้ยา metformin
ขณะที่ผลการศึกษาในแง่ของ cognitive decline พบว่า กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ได้รับยา metformin มี global cognition decline ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .032) เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ไม่ได้รับยา metformin และยังพบว่ากลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ได้รับยา metformin มี executive function decline ที่ช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .006) เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ไม่ได้รับยา metformin
อย่างไรก็ตาม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในแง่ของ global cognition decline และ executive function decline ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ได้รับยา metformin และกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ที่ได้รับยา metformin
Sydney Memory and Ageing Study เป็น prospective observational study ในอาสาสมัครที่อาศัยอยู่ในชุมชนในนครซิดนีย์ จำนวนทั้งสิ้น 1,037 คน อายุระหว่าง 70-90 ปี และไม่ได้มีภาวะสมองเสื่อมเมื่อเริ่มต้นการศึกษา โดยในจำนวนนี้มีอาสาสมัครที่เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 จำนวน 123 คน (12%) ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับยา metformin เพียงอย่างเดียว จำนวน 67 คน และที่ได้รับยา metformin ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดตัวอื่น ๆ จำนวน 33 คน (ยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่ม sulfonylureas เป็นยารักษาเบาหวานที่ผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้รับร่วมกับยา metformin บ่อยที่สุด) สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 70-90 ปี ในการศึกษานี้ที่ไม่ได้รับยา metformin จำนวน 56 คนนั้น มีอยู่ 34 คน ที่ใช้วิธีควบคุมอาหารแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลือได้รับยาลดน้ำตาลในเลือดตัวอื่น ๆ
โดยตลอด 6 ปีของการศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดต่างก็ได้รับการทดสอบ cognitive function ด้วย neuropsychological testing ทั้งเรื่องของ memory, executive function, attention, speed และ language test ในทุก ๆ 2 ปี พร้อมกันนี้ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดยังได้รับการประเมินการเปลี่ยนแปลงของ total brain, hippocampal และ parahippocampal volumes ด้วยการตรวจ MRI (magnetic resonance imaging) เมื่อเริ่มต้นการศึกษา และที่ 2 ปีของการศึกษาอีกด้วย
อนึ่ง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ที่เผยแพร่ล่าสุดออกมาในเดือนกันยายน ปี 2022 พบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่มากกว่า 55 ล้านคน และในทุก ๆ ปีมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรายใหม่เกิดขึ้นเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลก โดยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นรูปแบบของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด (ราว ๆ 60-70% ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม) ปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมเป็นสาเหตุต้น ๆ อันดับที่ 7 ในหมู่โรคภัยไข้เจ็บทั้งหมดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพของประชาชนทั่วโลก และแม้ภาวะสมองเสื่อมมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาวะสมองเสื่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้สำหรับผู้ชราวัยทุกคน
แหล่งที่มาของข้อมูล: www.garvan.org.au, https://cheba.unsw.edu.au, https://diabetesjournals.org, www.medscape.com