ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการ “อาหารเป็นยา” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้นำสมุนไพรที่มีในแต่ละท้องถิ่นมาใช้ประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค โดยใช้องค์ความรู้ทางแพทย์แผนไทย และทางด้านวิทยาศาสตร์ในการเพิ่มความเชื่อมั่นในสมุนไพรไทยนำไปสู่การบริโภคอาหารเป็นยา ผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก มุ่งเน้น ทำความเข้าใจต่อประชาชนทั้งในและต่างประเทศ และช่วยสร้างรายได้สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ
จากนโยบายดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการศึกษาวิจัยพริกไทย พันธุ์ปะเหลียน ซึ่งเป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดตรัง เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันมาตั้งแต่โบราณ มีประวัติการปลูก มานับ 100 ปี และยังคงมีต้นพันธุ์ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น คือ มีรสชาติที่เผ็ดร้อนกำลังดี มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดเล็ก ฝักแน่น เหมาะกับการรับประทานสดและแห้ง จึงเป็นที่นิยมในร้านอาหารเป็นอย่างมาก และมีการพบการกระจายตัวในการปลูกทั้งจังหวัดตรัง และในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเทคโนโลยีทางชีววิทยาระดับโมเลกุลในการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ร่วมด้วยกับการศึกษาทางด้านองค์ประกอบสารเคมี เอกลักษณ์ทางเภสัชเวท ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถนำมาศึกษาความหลากหลาย การพัฒนาพันธุ์พืชพริกไทย ที่มีคุณภาพ และสร้างเครื่องหมายทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรไทย เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ ทั้งนี้การศึกษาวิจัยพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนจะเป็นโมเดลที่ใช้ในการพัฒนาพันธุ์สมุนไพรที่มีคุณค่าชนิดอื่นๆ ของประเทศ โดยใช้ข้อมูลและวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ร่วมกับการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อนำมาศึกษาความหลากหลาย การตรวจระบุชนิด การจัดทำฐานข้อมูลจีโนม และเครื่องหมายทางพันธุกรรม ของพืชสมุนไพรของประเทศไทย ร่วมกับการจำแนกพันธุ์ตามหลักการทางอนุกรมวิธานพืช ในการคัดเลือกพันธุ์ ของพืชสมุนไพร ที่เหมาะต่อการปลูกและขยายพันธุ์ ได้พืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีประโยชน์ทางการแพทย์ และพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พริกไทย (Piper nigrum L.) เป็นพืชในกลุ่มวงศ์ Piperaceae เป็นพืชจำพวกไม้เถาเลื้อย มีความสูงประมาณ 5-6 เมตร มีลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้อง มีรากส่วนที่อยู่ในดิน และรากฝอยออกตามข้อสำหรับการยึดเกาะ เป็นพืชที่มีอายุยืน ผลมีลักษณะเป็นช่อไม่มีก้านผล โดยพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของไทยมีความโดดเด่นไม่ด้อยกว่าพันธุ์พริกไทยนำเข้าของต่างประเทศ เช่น มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นสาบ เมื่อทำพริกไทยแห้งรสเผ็ดร้อน ไม่แทรกรสขม ผลกรอบไม่เหนียวเหมาะกับการทำอาหารและเป็นเครื่องยา ในยาแผนไทย สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของพริกไทย ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน (11.3%) แป้ง (50%) แคลเซียมฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตานบี 2 ไนอาซิน วิตามินซี น้ำมันหอมละเหย และสารอื่นๆ อีกมากมาย
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ร่วมกับเครือข่ายทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้โมเดลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาพริกไทยพันธุ์ปะเหลียน นำมาศึกษาและจัดจำแนกความแตกต่างของชนิดและสายพันธุ์ โดยอาศัยหลักทาง พฤกษอนุกรมวิธาน ร่วมกับการตรวจระบุชนิดด้วยเทคนิคทางพันธุกรรมในระดับโมเลกุล โดยการทำ Genome sequencing และ DNA barcode เพื่อบ่งบอกลักษณะเฉพาะของพันธุ์พืชแต่ละชนิด รวมถึงการจัดทำเป็นข้อมูล ของพืชประจำถิ่น และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพริกไทยแต่ละพันธุ์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสมุนไพรของประเทศ เพิ่มมูลค่าทางการค้า เพื่อตอบโจทย์ในการใช้ประโยชน์ และนำไปต่อยอดทางธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชน ที่สนใจต่อไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว