คณะกรรมการโรคติดต่อฯ เห็นชอบแนวทางสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด พร้อมเห็นชอบแผนเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียใน 6 จังหวัดชายแดนไทย-เมียนมาที่พบผู้ป่วยสูง คิดเป็น 96% ของประเทศ ส่วน “โควิด” สถานการณ์ลดลง ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย แม้ว่าแนวโน้มผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตจะลดลงต่อเนื่อง แต่ผู้เสียชีวิตยังคงเป็นกลุ่ม 608 และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบติดเชื้อโควิด 19 ประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้ โดยหลังมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด 19 ประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว มากกว่า 10 ล้านคน เฉพาะช่วงวันที่ 29 ม.ค. – 4 ก.พ. 2566 มีผู้เดินทางเข้าประเทศ 4 แสนกว่าคน เฉลี่ยวันละ 6 หมื่นคน พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพียง 1 รายที่รักษาในโรงพยาบาล
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการเฝ้าระวังผู้เดินทาง ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศไว้แล้ว เช่น การมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด 19 ตลอดช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และบวกเพิ่มอีก 7 วัน การเก็บตัวอย่างน้ำเสียบนเครื่องบิน เป็นต้น รวมถึงมีบริการให้วัคซีนโควิด 19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนการเตรียมพร้อมรับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้น เน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ให้บริการท่องเที่ยว โดยตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อป่วย และแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่กรณีพบการระบาดในลักษณะ cluster ทั้งนี้ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ได้แก่ 1.ฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม รวมทั้งฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรรูป (LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 2.หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น 3.ให้การรักษาที่รวดเร็ว ทันเวลา โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้น และ 4.สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ และสำหรับเด็กเล็ก แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่ประชุมวันนี้ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.แนวทางการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด โดยประเทศไทยมีเป้าหมายตามพันธสัญญานานาชาติในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า และนโยบายเร่งรัด 1 เขต 1 อำเภอ (ใหม่) ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธานของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีเป้าหมายให้ไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2568 ด้วยกลไกการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงาน ภาคส่วนอื่นๆ
2.แผนการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่พบผู้ป่วยสูง 6 จังหวัด (ก.พ. – พ.ค. 2566) โดยในปี 2566 สถานการณ์การระบาดของโรคไข้มาลาเรียบริเวณชายแดนไทยเมียนมา 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี พบผู้ป่วยรวม 2,991 ราย คิดเป็นร้อยละ 96 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อทั้ง 6 จังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดกำจัดไข้มาลาเรีย รวมทั้งส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินการตามแผนเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “ปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2567”