ม.มหิดล ผลิตบัณฑิตป.โทเยียวยาวิกฤติขาดแคลนนักฟิสิกส์การแพทย์ไทย

www.medi.co.th

128 ปี นับตั้งแต่ "รังสีเอกซ์" (X-ray) ได้รับการค้นพบโดย วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ คนแรกของประวัติศาสตร์ ทำให้โลกได้มีการถ่ายภาพทางการแพทย์ด้วยรังสีเอกซ์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคต่างๆ จวบจนปัจจุบัน และนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของบทบาท "นักฟิสิกส์การแพทย์" ให้โลกได้จารึก


 


ด้วยความมุ่งมั่นในปณิธาน "ปัญญาของแผ่นดิน" ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถผลักดันให้หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลิต "นักฟิสิกส์การแพทย์ทักษะสูง" เยียวยาวิกฤติขาดแคลนวิชาชีพดังกล่าว เสริมยุทธศาสตร์ชาติ


 


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภฤศ หาญอุตสาหะ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคณะฯ ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์การแพทย์ ด้วยทักษะขั้นสูง เพื่อรองรับการขาดแคลนวิชาชีพ "นักฟิสิกส์การแพทย์" ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในโลกที่เทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่งเช่นปัจจุบัน


 


ซึ่งนักฟิสิกส์การแพทย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย จากการใช้องค์ความรู้ทางฟิสิกส์ประยุกต์เพื่อทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการได้รับการฉายรังสีในปริมาณที่ไม่เป็นอันตราย โดยมีการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างรังสีแพทย์ในการวินิจฉัยโรค และนักรังสีเทคนิคในการใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม


 


รังสีเป็นพลังงานที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาโรคมะเร็ง แม้การฉายรังสีจะสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติได้ จึงทำให้มีการบรรจุรายวิชา "การป้องกันและความปลอดภัยจากการแผ่รังสี" เอาไว้ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์การแพทย์ เพื่อผลิตบัณฑิตที่นอกจากมีความรู้ทางวิชาชีพที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ


 


นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ยังจัดให้มีการฝึกปฏิบัติทางคลินิกของฟิสิกส์การแพทย์ และการใช้เทคนิคขั้นสูงสำหรับรังสีรักษา ตลอดจนการทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อที่สามารถแก้ไขปัญหาในการให้บริการผู้ป่วยด้านรังสี และการวางแผนการรักษาที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยต่อไปอีกด้วย


 


ปัจจุบัน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการรับรองมาตรฐานนานาชาติ AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งปริญญาโท และเอก อีกหลายหลักสูตรที่เตรียมเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติ  โดยคณะฯ มุ่งพัฒนาให้ทุกหลักสูตรมีเนื้อหาที่ผู้เรียนสามารถนำไปพัฒนาวิชาชีพ และส่งเสริมประเทศไทยให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติที่ยั่งยืนต่อไป


 


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


 


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210