ความสูญเสียซึ่งมีที่มาจากกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (cyberbullying) ส่วนใหญ่เกิดจาก “ความไม่รู้” จึงถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของสถาบันอุดมศึกษาในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ที่จะต้องสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางสังคม” ให้กับนักศึกษา นอกเหนือจากการประสิทธิ์ประสาทวิชา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฝันร้ายที่ไม่คาดฝัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงมาตรการดูแลนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDG10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequities)
จึงได้เปิดรับเรื่องไว้ถึง 5 ช่องทาง ผ่านทางโทรศัพท์ เฟซบุ๊กกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เฟซบุ๊กสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เฟซบุ๊กสภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งทางแอปพลิเคชัน We Mahidol "รายงานเหตุการณ์"
"ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยอาจเป็นการวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เช่น รูปร่าง และการแต่งกาย ตลอดจนเรื่องส่วนตัวต่างๆ เนื่องจากคิดว่าเป็นเพียงการทักทาย หรือหยอกล้อกันธรรมดา แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ผู้ถูกหยอกล้อกำลังรู้สึกกังวลใจ"
"และในบางกรณีอาจต้องกลายเป็นผู้ที่มีประวัติกระทำความผิดทางกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เช่น จากการนำรูปบุคคลไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นต้น มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดกิจกรรมให้ความรู้ วิธีการป้องกัน และคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว
นอกจากการเปิดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ไว้ถึง 5 ช่องทางแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้เปิดช่องทางการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Reporting Breach Personal Information) สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลทางออนไลน์ไว้ด้วย
โดยสามารถแจ้งเหตุละเมิด ทั้งที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ซึ่งได้แก่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขโทรศัพท์ ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่สามารถใช้ในการค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต และข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ซึ่งได้แก่ ข้อมูลทางครอบครัว และข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวต่อไปว่า เป็นไปได้ยากที่จะป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพียงการช่วยเหลือรับเรื่องร้องเรียนอาจยังไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยมหิดลยังจะได้ยกระดับมาตรการสู่ประกาศข้อบังคับ และมาตรการดำเนินการกับผู้กระทำผิด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนในรายละเอียดเพื่อประกาศใช้จริงต่อไปในเร็วๆ นี้
“อย่างไรก็ดี วิธีการป้องกันการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ที่ดีที่สุด คือ “การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม” โดยนักศึกษาและบุคลากรจะต้องร่วมกันระมัดระวังไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ และถึงแม้จะเกิดขึ้นก็ควรเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับปัญหาด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ในส่วนของนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองกิจการนักศึกษา พร้อมเป็นกำลังใจ และให้คำปรึกษาผ่านสายด่วน “MU Friends” ตลอด 24 ชั่วโมง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210