“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ฉบับที่ 5/2566 ระวัง! โรคไข้เลือดออกไวต่อสภาพอากาศ แนะประชาชนป้องกันตนเอง พร้อมปฏิบัติตามหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค"

www.medi.co.th

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในปี 2566 (1 ม.ค.- 1 ก.พ.) พบผู้ป่วย 2,683 ราย อัตราป่วย 4.05 ประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี (11.63%) 15-24 ปี (7.32%) 0-4 ปี (5.23%) ตามลำดับ พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง 996 ราย (5.87%) กรุงเทพฯ 649 ราย (11.68%) ภาคใต้ 625 ราย (6.59%) ภาคเหนือ 296 ราย (2.40%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 117 ราย (0.54%) จำนวนผู้ป่วยในช่วงนี้ มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึง 5 เท่า โดยสัดส่วนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำแนกตามกลุ่มอาการ แบ่งเป็นกลุ่มอาการไข้เด็งกี (Dengue fever: DF) 69.8%, ไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever: DHF) 29.1% และ ไข้เลือดออกที่ช็อก (Dengue Shock Syndrome: DSS) 1.1% เป็นต้น”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่ามีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไวต่อสภาพอากาศจากอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา สัปดาห์นี้พบว่า สภาพอากาศของประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และฝนตกหนักในบางพื้นที่ ทำให้ภาชนะต่างๆ หรือเศษขยะ มีนำฝนท่วมขังอยู่ เช่น ฝาขวด แก้วพลาสติก ถุงพลาสติก เศษกระถาง ซึ่งน้ำที่ท่วมขังเป็นน้ำนิ่งและค่อนข้างสะอาดที่ยุงลายชอบวางไข่ โดยไข่ของยุงลายจะยึดติดแน่นกับขอบผิวภาชนะเหนือระดับน้ำเล็กน้อย สามารถอยู่ได้นานเป็นปี เมื่อมีน้ำท่วมถึงสามารถฟักตัวเป็นระยะตัวเต็มวัยในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้ยุงลายตัวเต็มวัยออกหากินในช่วงกลางคืนมากขึ้น
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชน ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และป้องกันไม่ให้ยุงเกิด ด้วยวิธีนอนในมุ้ง อยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุง ใช้ยาจุดกันยุง พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ จำพวกเศษภาชนะวัสดุที่ทิ้งกระจาย รอบๆ บ้าน เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถมดินไม่ให้น้ำขัง ยางรถยนต์เก่า สามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ และสุดท้ายคือเก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ
ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังหากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังตามแขน ขาข้อพับ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และข้อเน้นย้ำว่าไม่ซื้อยากินเอง เนื่องจากยาลดไข้บางประเภทอาจทำให้มีอาการรุนแรงและเลือดออกมากขึ้น รักษายากขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำให้ผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”