ม.มหิดล ผนวกทักษะศาสตร์และศิลป์บรรลุคุณภาพเทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิค

www.medi.co.th


กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้บริการประชาชน ในฐานะสถาบันที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการจัดการเรียนการสอนทางเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิคที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องด้วยคุณภาพ
ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่ใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ ได้แก่ "กลยุทธ์การพัฒนา Outcome-based Education" ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อ ELO หรือExpected Learning Outcome ของบัณฑิตที่จะผลิตออกไปโดยมุ่งเน้นให้ครอบคลุมความคาดหวังของผู้ป่วยในการได้รับบริการที่ทันสมัย มีคุณภาพ และตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต
จนได้กลายเป็นก้าวสำคัญในการเป็นคณะเทคนิคการแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานนานาชาติ AUN-QA (ASEAN University Network Quality Assurance) ทั้งในสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ และสาขาวิชารังสีเทคนิค โดยเริ่มต้นที่สาขาวิชารังสีเทคนิค เมื่อปี 2563 และสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เมื่อปี 2564 ช่วงเวลาการรับรองของแต่ละสาขาภายใน 5 ปี
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพล วิเชียรอินทร์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในเบื้องหลังสำคัญที่ได้ผลักดันให้สาขาวิชารังสีเทคนิคคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถพิชิตมาตรฐาน AUN-QA โดยกล่าวว่า รังสีเทคนิคเป็นหัวใจสำคัญของการวินิจฉัยโรค ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้การถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นไปด้วย
นักรังสีเทคนิคจึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์นำมาประยุกต์เพื่อให้สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม และบรรลุวัตถุประสงค์ในการวินิจฉัย
ลำพังความรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นไม่เพียงพอ จะต้องมีการเรียนรู้ถึงวิธีการสื่อสารและการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยจึงจะสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างแท้จริงโดยรวมทั้งการดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ซึ่งล้วนเป็นทักษะสำคัญที่ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนานักศึกษา
"ยกตัวอย่างเช่น ในการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ แม้จะมีท่ามาตรฐานกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่หากผู้ป่วยมีข้อจำกัด ทำแล้วรู้สึกเจ็บ นักรังสีเทคนิคจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น โดยจะต้องสามารถใช้ทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วยด้วย" รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพล วิเชียรอินทร์ กล่าว


นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่คณะเทคนิคการแพทย์ สามารถก้าวสู่มาตรฐานในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป มั่นใจได้ในองค์ความรู้ที่ได้มาตรฐานและพร้อมโอบกอดผู้ป่วยด้วยคุณภาพการบริการที่ดีที่สุดตลอดไป


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210