กรม สบส. ชวน อสม. รณรงค์ให้ความรู้ป้องกันไข้เลือดออก ลดป่วย ลดตาย ป้องกันการป่วยซ้ำ

www.medi.co.th

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชวน อสม.ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันตนจากยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกอย่างถูกวิธี พร้อมเป็นแกนนำชุมชน ใช้หลัก 3 เก็บ 3 โรค ขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ลดอัตราป่วย เสียชีวิต และป้องกันประชาชนไม่ให้กลับมาป่วยโรคไข้เลือดออกซ้ำ


นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยกรมควบคุมโรค เผยว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 2,683 ราย อัตราป่วย 4.05 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งพบว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 มากถึง 5 เท่า ทั้งนี้ การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดการระบาดของโรคไข้เลือดออก
ในชุมชน ซึ่ง อสม. เป็นภาคส่วนที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนในฐานะหมอคนที่ 1 เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานป้องกัน ควบคุมโรค กรม สบส.จึงประสานขอความร่วมมือไปยังเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศ ในการออกให้ความรู้ รณรงค์ให้ประชาชนเกิดการป้องกันตนจากยุงลายอย่างถูกวิธี อาทิ นอนกางมุ้ง การใช้อุปกรณ์จุดกันยุง ยาทากันยุง และเป็นแกนนำในการออกสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยนำหลัก 3 เก็บ 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก  2.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ภาชนะที่ปิดไม่ได้ให้เปลี่ยนบ่อยๆ/เทน้ำทิ้ง 3.เก็บขยะที่อาจเป็นแหล่งน้ำขังไม่ให้ยุงวางไข่ได้ มาใช้ป้องกันไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของ 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการป่วยของบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการมีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจพบจ้ำเลือดตามผิวหนัง หรือเจ็บชายโครงด้านขวา ขอให้สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าอาจป่วยด้วยอาการของโรคไข้เลือดออก ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และให้แจ้งกับ อสม.ใกล้บ้าน เพื่อให้ อสม.ได้ทำการบันทึกและส่งต่อข้อมูลการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยใช้ “แอปพลิเคชัน SMART อสม.” แก่หน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อเข้าดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และดูแลสุขภาพชาวชุมชน อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ระยะก่อนเกิดโรค ระยะเกิดโรค และระยะหลังการเกิดโรค ป้องกันประชาชนไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ