กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะเทคนิค 7+1 ให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตน ป้องกันโรคสมองเสื่อม ชี้ อาจไม่ได้ป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่ช่วยให้สมองมีประสิทธิภาพและชะลอความเสื่อมของสมองได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 12 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมอนามัย โดยในปี พ.ศ. 2566 กรมอนามัยครบรอบ 71 ปี ภายใต้แนวคิด ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงวัยไทย เพื่อเน้นย้ำให้ประเทศไทยให้ความสำคัญในการดูแลสุถขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งจากสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี พ.ศ. 2565 พบว่า มีประชากรผู้สูงอายุ จำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.9 และคาดว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super – Aged Society) กรมอนามัยจึงอยากให้ลูกหลานใส่ใจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มวัยที่เปราะบาง มีโรคประจำตัว มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย หากเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคสมองเสื่อมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดหรือจำไม่ได้ มีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป ซึ่งอัตราการพบโรคสมองเสื่อม ในผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เช่น อายุมากกว่า 65 ปี พบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ร้อยละ 5-8 อายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป พบร้อยละ 30 อายุ 90 ปีขึ้นไป พบร้อยละ 50 เป็นต้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงแนะแนวทางการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม ด้วยเทคนิค 7+1 ซึ่งประกอบไปด้วย 1) กินดี ผู้สูงอายุควรได้รับปริมาณอาหารที่เหมาะสม โดยควรบริโภคข้าวหรือแป้งวันละ 7-9 ทัพพี ผักวันละ 4 ทัพพี ผลไม้วันละ 1-3 ส่วน เนื้อสัตว์วันละ 6-8 ช้อนกินข้าว นมวันละ1-2 แก้ว
และหลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม 2) ฟันดี ผู้สูงอายุควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่ขนอ่อนนุ่ม ปลายขนแปรงมนเน้นการแปรงบริเวณขอบเหงือก คอฟัน เป็นพิเศษ แปรงให้ทั่วถึงทุกซี่ ทั้งด้านนอกที่ติดพุ้งแก้มและด้านในที่ติดกับลิ้นหรือเพดาน รวมทั้งด้านบดเคี้ยว แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งๆ ละ 2 นาที 3) ตาดี ผู้สูงอายุนั้นเป็นวัยที่มักจะประสบปัญหาด้านสายตา โดยเฉพาะอาการสายตายาว ซึ่งทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพระยะใกล้ได้ชัดเจน จึงควรพบจักษุแพทย์เป็นประจำ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลดวงตาที่ถูกต้อง ชะลออาการเสื่อมของสายตา
“4) เคลื่อนไหวดี ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อต่างๆ ด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทรงตัวดีขึ้น การเดิน
6,000 ก้าวต่อวัน ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี 5) สภาพแวดล้อมดี ควรจัดบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น จัดวางของในบ้านให้เป็นที่ระเบียบ สะอาด ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน ปูพื้นห้องน้ำด้วยพื้นหยาบและมีราวจับ ป้องกันการหกล้ม 6) อารมณ์ดี ควรให้ผู้สูงอายุได้พบปะร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย เข้าวัด ทำบุญ เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง 7) สมองดี หากผู้สูงอายุได้บริโภคอาหารที่ดี มีสภาพจิตใจดี สภาพแวดล้อมดี ก็จะช่วยให้สมองนั้นดีตามไปด้วย และ 8) การนอนหลับที่ดี ผู้สูงอายุควรนอนหลับให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีสุขภาพดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กรมอนามัย ครบรอบ 71 ปี แนะ 7+1 เทคนิค ป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
www.medi.co.th