ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก หนุนวันสตรีสากล International Women’s Day 2023
เนื่องในวันสตรีสากล บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยใส่ใจดูแลสุขภาพสตรี (Women’s Health) เชื่อว่าการมีสุขภาพที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้มีอิสระในการใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการมากขึ้น ตามแนวคิดโครงการ Freedom to be (ฟรีด้อมทูบี) ของ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด ผ่าน 3 กิจกรรมเพื่อผู้หญิงได้แก่ 1) เปิดเผยผลการสำรวจ Women’s Health in APAC Survey (วีเมนส์ เฮลธ์ อิน เอเชีย แปซิฟิก) ที่ทำการศึกษาผู้หญิง 3,320 คน จาก 8 ประเทศ ในเอเชีย แปซิฟิก รวมทั้ง ประเทศไทย (หญิงไทย 320 คน) ในช่วงปลายปี 2565 2) จัดกิจกรรม Journalist Master Class (เจอนัลลิสต์ มาสเตอร์คลาส) เชิญสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้สื่อข่าวทั่วเอเชีย แปซิฟิก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในระบบเฮลต์แคร์ในเอเชียแปซิฟิก (Women’s Health Inequity in Asia Pacific) ในแต่ละประเทศ พร้อมระดมความคิดรวมทั้งเสนอแนะแนวทางทางการประชาสัมพันธ์ให้ผู้หญิงในประเทศของตนมีความรู้ความเข้าใจ มีโอกาสในการเข้าถึงการตรวจสุขภาพสตรีมากขึ้น และ 3) กิจกรรมสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.นพ. ณัฐวุฒิ กันตถาวร สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในประเด็น “Women's Health in Thailand - What Can Be Done to Provide Better Care for Women to Achieve Elimination of Cervical Cancer: เหลียวหลังแลหน้าเพื่อหาวิธีพิชิตภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย” หวังสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้หญิงเห็นถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อกำจัดให้มะเร็งปากมดลูกหมดไปจากประเทศไทย
สำหรับกิจกรรม“Women's Health in Thailand - What Can Be Done to Provide Better Care for Women to Achieve Elimination of Cervical Cancer: เหลียวหลังแลหน้าเพื่อหาวิธีพิชิตภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย”มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ปัญหาและการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพของสตรีไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา รวมถึงการคาดการณ์ในอนาคต สถานการณ์ภาพรวมมะเร็งนรีเวชของประเทศไทยในปัจจุบัน ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันและลดอุบัติการณ์ของโรคอย่างยั่งยืน การกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยและปัจจัยสู่ความสำเร็จ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางนรีเวชกับความหวังในการพัฒนาแนวทาง ป้องกัน และรักษาสุขภาพสตรีให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน การตื่นตัวและตระหนักรู้กับแนวคิดตรวจพบเร็ว ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยด้วยการตรวจคัดกรองวิธี Pap Smear และ HPV DNA รวมไปถึงสถานการณ์การเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งนรีเวชอื่นๆ ของสตรีในประเทศไทย
สำหรับกิจกรรม“Women's Health in Thailand - What Can Be Done to Provide Better Care for Women to Achieve Elimination of Cervical Cancer: เหลียวหลังแลหน้าเพื่อหาวิธีพิชิตภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย”มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ปัญหาและการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพของสตรีไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา รวมถึงการคาดการณ์ในอนาคต สถานการณ์ภาพรวมมะเร็งนรีเวชของประเทศไทยในปัจจุบัน ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันและลดอุบัติการณ์ของโรคอย่างยั่งยืน การกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยและปัจจัยสู่ความสำเร็จ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางนรีเวชกับความหวังในการพัฒนาแนวทาง ป้องกัน และรักษาสุขภาพสตรีให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน การตื่นตัวและตระหนักรู้กับแนวคิดตรวจพบเร็ว ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยด้วยการตรวจคัดกรองวิธี Pap Smear และ HPV DNA รวมไปถึงสถานการณ์การเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งนรีเวชอื่นๆ ของสตรีในประเทศไทย
ผศ.นพ. ณัฐวุฒิ กันตถาวร สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกพบบ่อยเป็นอันดับที่ 5 ในผู้หญิงไทย รองจาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งปอด โดยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ พบ 9,158 ต่อปี และมีการเสียชีวิตประมาณ 4,705 ราย เนื่องจากมักตรวจพบมะเร็งปากมดลูกจะพบในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ค่อนข้างมาก ทำให้เห็นว่าผู้หญิงไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการตรวจภายใน และมักจะเข้ารับการตรวจก็ต่อเมื่อพบสัญญาณอันตราย ทำให้อาจจะสายเกินกว่าที่จะรักษาไห้หายขาด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจ Women’s Health in APAC Survey (วีเมนส์ เฮลธ์ อิน เอเชีย แปซิฟิก) ในผู้หญิงไทยจำนวน 320 คน ผ่านการสำรวจแบบดิจิทัลในช่วงปลายปี 2565 ที่พบว่าแม้ว่าผู้หญิงไทย 61% มองว่าพวกเธอค่อนข้างมีความรู้ ความเข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูก แต่ยังมีอีก 39% ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก ในขณะที่ 66% ของผู้หญิงไทย มั่นใจในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้อย่างเหมาะสมและสะดวกมากขึ้น รวมทั้ง 83% ของผู้หญิงไทยมองว่าพวกเธอมั่นใจว่าจะได้รับการรักษา หากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้ในภาพรวมมากกว่าครึ่งของผู้หญิงไทยที่เข้าร่วมการสำรวจนี้มองว่าระบบเฮลต์แคร์ในไทยมีผลกระทบ (impact) ต่อสุขภาพสตรี (women’s health) เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับนโยบายเชิงรุกในการรณรงค์ให้สตรีเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA (เอชพีวี ดีเอ็นเอ) ทั้งของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน
“มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกไม่ได้เกี่ยวกับพันธุกรรม แต่เกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเชื้อ HPV (เอชพีวี) มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มี 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสายพันธุ์16 และสายพันธุ์ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก 70% ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งที่รู้การกำเนิดของโรคได้ชัดเจนกว่ามะเร็งบางชนิด ตรวจพบได้ง่ายกว่า แต่ในระยะแรกจะไม่มีอาการเลย ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจึงควรเข้ารับตรวจคัดกรองเมื่อมีอายุ 25 ปี หรือภายหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ 5 ปี ให้ตรวจครั้งแรก เพราะการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียว ก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ เมื่อได้รับเชื้อไวรัส HPV อาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ในระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี หากตรวจพบในระยะที่ 1 มีโอกาสรอด 90 เปอร์เซ็นต์ แต่หากตรวจเจอระยะที่ 3 จะมีโอกาสรอด 50-50 ดังนั้นหากตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงเร็วตั้งแต่เริ่มติดเชื้อก็สามารถทำการรักษา ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้นั่นเอง”
ผศ.นพ. ณัฐวุฒิ กันตถาวร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น ที่ผ่านมาจะเป็นการตรวจด้วยวิธี Pap Smear (แปป สเมียร์) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยาโดยดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่มะเร็ง โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก เพื่อส่งไปตรวจสอบในห้องปฎิบัติการเพื่อหาเซลล์ที่ผิกปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์ และต้องตรวจทุกปี การตรวจแบบ PAP SMEAR จึงไม่ใช่การตรวจหาเชื้อ HPV และจะมีความไวในการตรวจเจอโรค 53% รวมถึงวิธีการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู โดยการใช้น้ำส้มสายชูป้ายลงบนปากมดลูก แล้วสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของสีเยื่อบุปากมดลูก แต่ในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ใช้การตรวจแบบ HPV DNA Test (เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจถึงระดับ DNA เพื่อหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อระบุหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งหรือภาวะก่อนมะเร็งในสตรี โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างแบบเดียวกันกับการตรวจแบบ PAP SMEAR แต่ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในห้องปฎิบัติการทางการแพทย์ เพื่อระบุหาเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงจาก DNA ของเชื้อโดยตรง มีความไวในการตรวจเจอโรค 92% และสามารถเว้นระยะการตรวจได้ถึง 5 ปี หากตรวจไม่พบเชื้อ
“สำหรับผู้หญิงบางคนที่มีความกังวล กลัวเจ็บ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนนั้น แพทย์จะเลือกขนาดเครื่องมือตรวจภายในที่เหมาะสม หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือขนาดเล็กทำให้แทบไม่เจ็บเลยในตอนที่ตรวจ ส่วนคนที่อายแพทย์ ปัจจุบันมีการตรวจด้วยวิธี HPV DNA Self-sampling (การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง) คือสามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่เจ็บ มีความไวในการตรวจเจอโรคมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ต่างจากการตรวจโดยแพทย์ สามารถขอตรวจด้วยวิธีนี้ได้ในโรงพยาบาล เมื่อเก็บตัวอย่างเสร็จแล้วก็นำมาให้เจ้าหน้าที่ส่งแล็บเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป ส่วนกลุ่มที่ไม่ยอมตรวจเพราะกลัวจะพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก กลัวการรักษานั้น อยากให้มองว่าการตรวจภายในเป็นเรื่องปกติเหมือนตรวจร่างกายประจำปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรมาตรวจ เพราะมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ในหลายระยะ ตั้งแต่การพบเชื้อ HPV ตรวจพบเซลล์ผิดปกติ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนมะเร็งจะไม่มีอาการ แต่เมื่อเกิดแผลที่ปากมดลูก หรือเกิดเป็นก้อนขึ้นมา จะมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์เพราะไปโดนก้อนเนื้อ ซึ่งเมื่อตรวจภายในจะเห็นเป็นก้อนว่าเป็นมะเร็งชัดเจน จึงไม่อยากให้เจอในระยะนี้ ดังนั้น อย่ารอจนเกิดอาการก่อน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพราะหากเจอเชื้อเร็วจะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้” ผศ.นพ. ณัฐวุฒิ กันตถาวร กล่าวเสริม
สำหรับภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกถือเป็นภารกิจที่ประชาคมโลกมีพันธกิจร่วมกันในการกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2050 ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะลดลง 3.5 แสนคน และอัตราผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกจะลดลง 5 ล้านราย ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยต้องทำให้ลดลงจนเป็นมะเร็งหายากในที่สุด โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเอชพีวี และตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวี ซึ่งถือเป็นการป้องกันโรคได้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีอุบัติการณ์โรคลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีระบบคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างเป็นทางการมาเกือบ 20 ปีแล้ว ด้วยวิธีตรวจ แปป สเมียร์ (Pap Smear) และ การใช้น้ำส้มสายชูป้าย หรือ วีไอเอ (VIA) จนมาถึงการตรวจคัดกรองเพื่อหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี หรือ HPV DNA ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราโรคที่ต่ำลงเรื่องๆ ต่ำกว่า 1 พันในอนาคต
“เวลาผู้หญิงป่วย 1 คน ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงป่วยคนเดียว แต่ยังหมายถึงครอบครัวด้วย เธออาจเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่ มีสามี มีครอบครัวที่จะส่งผลกระทบต่อด้วย ดังนั้นขอฝากหลักในการพิชิตภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยไว้ 3 ข้อคือ 1) ต้องให้ความรู้ ทั้งความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกและความรู้เรื่องไวรัส HPV ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก 2) ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) ซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนฟรีในเด็กผู้หญิงที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 3) ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส HPV ซึ่งประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากการตรวจ Pap Smear เป็นการตรวจแบบ HPV DNA Test และยังมี HPV Self-sampling การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนกลัวเจ็บ คนที่อายแพทย์ เชื่อว่าหากทำทั้ง 3 ข้อได้สำเร็จ มะเร็งปากมดลูกจะเป็นมะเร็งที่พบได้ยากในอนาคต จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงไปตรวจคัดกรองกันให้มากขึ้น เพราะมะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ และหากตรวจพบเร็วก็สามารถรักษาได้ ยิ่งระบบสุขภาพในบ้านเราครอบคลุมการตรวจเหล่านี้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น สามสิบบาท ประกันสังคม หรือข้าราชการ ต่างสามารถเข้าถึงการรักษาได้หมด” ผศ.นพ. ณัฐวุฒิ กันตถาวร กล่าวปิดท้าย พร้อมย้ำว่าการตรวจภายใน และการตรวจคัดกรองจำเป็นอย่างมากที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับ