ณ สภากาชาดไทย นายเเพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการจากสำนักงาน
ความร่วมมือระหว่างประเทศ กองโรคติดต่อทั่วไป และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกองดิจิทัลเพื่อการควบคุมโรค หารือเตรียมการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลด้วยการสแกนม่านตาและ การจดจำใบหน้าสำหรับผู้ไม่มีเอกสารประจำตัวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัยที่ต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น
นายเเพทย์ธเรศ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ไทยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ทำให้ยากต่อการให้บริการและติดตามการฉีดวัคซีนโควิด 19 อีกทั้งยังพบปัญหาการออกเลขประจำตัวใหม่เพื่อระบุตัวตนที่อาจมีความซ้ำซ้อนเมื่อมีการย้ายสถานบริการสาธารณสุข ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล จะช่วยให้กระบวนการทำงานทั้งป้องกัน เเละควบคุมโรคของประเทศไทย
มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปี 2565 กรมควบคุมโรค ได้ทดลองใช้การจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลผ่านการสแกนม่านตา ร่วมกับสภากาชาดไทยและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและกลุ่มผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ มากกว่า 60,000 คน โดยยึดหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ พบว่า ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และเมื่อสอบถามแนวทางปฎิบัติในโรงพยาบาลนำร่อง พบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ในพื้นที่มีความพึงพอใจของการใช้งานในระบบที่สามารถลดปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อนได้เป็นอย่างดี ต่อมาในที่ประชุมได้ร่วมกำหนดพื้นที่นำร่องในการนำเทคโนโลยีพิสูจน์อัตลักษณ์เพื่อการดูแลสุขภาพที่จำเป็น เช่น การป้องกันควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ที่มีประชากรข้ามชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ตาก และชลบุรี โดยแบ่งระยะการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เตรียมความพร้อมจะมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติมาตรฐาน ส่งอุปกรณ์ จัดอบรมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในการเรียนรู้ขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงอบมรมให้ความรู้แก่ อสม. เเละอสต.
ระยะที่ 2 ลงพื้นที่จะเป็นการเก็บข้อมูล เเละประเมินผลการป้องกันควบคุมโรคในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ อาทิ บริการวัคซีนพื้นฐานในโรงพยาบาล เป็นต้น
“การพัฒนาระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของกลุ่มที่ไม่มีเอกสารประจำตัว โดยความร่วมมือกันระหว่างกรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย NECTEC องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย เเละศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) จะเป็นการยกระดับระบบการยืนยันตัวบุคคลของกลุ่มดังกล่าวที่จะได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น ณ สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างในด้านการป้องกันและควบคุมโรคที่รวดเร็วและแม่นยำ” นายเเพทย์ธเรศ กล่าว