นายกสมาคมโรคไตฯ ห่วงผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง แนะเลือกวิธีล้างไตที่เหมาะสมกับตนเอง

www.medi.co.th

นายกสมาคมโรคไตฯ ห่วงผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง เลือกวิธีบำบัดทดแทนไตไม่เหมาะสมกับตัวเอง หลัง สปสช. คิกออฟนโยบาย “เลือกฟอกไตในแบบที่ใช่” พบผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมแม้ไม่เหมาะสมกับตัวเอง สาเหตุไม่อยากล้างไตด้วยตนเอง ฟอกเลือดง่ายกว่า แถมไม่มีค่าใช้จ่าย เตือนอาจเกิดการติดเชื้อ มีภาวะแทรกซ้อนได้ เผยมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องกลับมาล้างไตทางช่องท้องเหมือนเดิม พร้อมแนะนำฟังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เลือกล้างไตที่เหมาะสมกับตนเอง


นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กว่า 1 ปีเศษที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บรรจุสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้สามารถเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตด้วยตนเองตามแบบที่เหมาะสม ได้ตั้งแต่วัน 1 ก.พ. 2565 ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารับบริการจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง ที่สามารถเลือกวิธีการักษาที่เหมาะสมได้เอง ทั้งการล้างไตทางช่องท้อง และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม


แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันยังพบว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตได้เองนั้น อาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้เลือกแนวทางที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง รวมไปถึงตัดสินใจเองโดยไม่รับฟังอายุรแพทย์โรคไตที่เชี่ยวชาญ แม้ว่าจะให้ข้อมูลและพิจารณาถึงแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันแล้วก็ตาม จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสี่ยงตามมา ทั้งการติดเชื้อ และเกิดภาวะแทรกซ้อน


“เมื่อให้ผู้ป่วยเลือกเอง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เคยล้างไตทางช่องท้องก็เปลี่ยนมาเป็นฟอกเลือด เพราะไม่อยากเสียเวลาดูแลตัวเอง มาฟอกเลือดจะง่ายกว่าและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายแฝงด้วย ทั้งค่าเดินทางมายังหน่วยบริการฟอกเลือด และต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อครั้ง และผู้ป่วยบางรายยังความดันตก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยที่สุดท้ายผู้ป่วยเลือกกลับไปรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องด้วยตัวเองเหมือนเดิม” นพ.วุฒิเดช กล่าว


นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ประเด็นการเข้าถึงข้อมูล และรับสารหรือข้อมูลที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับการเลือกวิธีการรักษา ทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีความเสี่ยงมากขึ้น ทางออกที่สำคัญคือต้องพิจารณาถึงวิธีการรักษาร่วมกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพราะแพทย์จะพิจารณาจากความเหมาะสมของผู้ป่วย ทั้งพฤติกรรม รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย หากล้างไตทางช่องท้องได้แพทย์ก็จะพิจารณาแนะนำให้ หรือหากต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก็ควรให้มีแพทย์ร่วมพิจารณาจะดีที่สุด


นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับอาหารเสริม และยาสมุนไพรที่อ้างว่าสามารถรักษาโรคไตวายเรื้อรังได้ ซึ่งเป็นการโฆษณาที่เกินจริง และมีการแพร่หลายในหลายสื่อ ทั้งป้ายรถประจำทาง หรือภายในรถโดยสารสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าไม่มีอาหารเสริม หรือยาสมุนไพรใดที่จะช่วยรักษาโรคไตวายเรื้อรังได้ มีแต่จะทำให้อาการแย่ลง หรือทำให้การทำงานของไตหนักขึ้นและค่าไตก็เพิ่มสูงขึ้นจากการกินอาหารเสริม หรือยาสมุนไพรที่ไม่จำเป็น


ดังนั้น จึงขอให้ประชาชน หรือกลุ่มเสี่ยงโรคไต และผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการกินยา อาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกัน สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ก็ร่วมกับสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย หากได้ข้อมูลข่าวสารโฆษณาชวนเชื่อผิดๆ ก็จะนำไปแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพทยสภา เพื่อให้ดำเนินการกับผู้ที่ให้ข้อมูลผิดๆ กับสังคม เพราะมีคนไข้หลายส่วนที่ค่าไตแย่ลง และสืบหาสาเหตุก็พบว่ามาจากการรับประทานอาหารเสริม และสมุนไพรที่ไม่จำเป็น ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นกว่าเดิม


“ถ้ายังไม่เป็นโรคไต ต้องรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงอาหารเสริม สมุนไพร แต่เมื่อเป็นแล้วก็ต้องรักษาโรคให้ดี และเมื่อถึงระยะท้ายแล้ว โดยทั่วไปก็ต้องปรึกษากับแพทย์โรคไตเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ร่วมกัน” นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว


นพ.วุฒิเดช กล่าวอีกว่า สาเหตุสำคัญของโรคไตวายเรื้อรัง มาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงถึง 80% ซึ่งมีแนวโน้มที่คนไทยจะป่วยมากขึ้นด้วย เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะการบริโภคอาหาร ดังนั้น การตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงการออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะไม่นำไปสู่การป่วยเป็นโรคไต


นพ.วุฒิเดช กล่าวเสริมอีกว่า ขณะนี้สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กำลังศึกษาและพิจารณาถึงการให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงการคัดกรองตรวจค่าไต และได้รับยาชะลอไตเสื่อมให้กับประชาชน เพื่อให้มีการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับประชาชนทุกกองทุนสุขภาพ-ทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยในการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคไตระยะต้นๆ เข้าไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังสุดท้าย และมีความคุ้มค่ามากกว่าการทุ่มเงินรักษาอย่างแน่นอน