ไซยาไนด์(Cyanide)สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อยู่ในหลายรูปแบบทั้งของแข็งและของเหลว มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก, ไฟไหม้บ้าน หรือไฟไหม้รถ, การเผาวัสดุที่มีคาร์บอนและไนโตรเจน เช่น พลาสติก เมลานีนเรซิน ไนล่อน ไหม ขนสัตว์ และยางสังเคราะห์ สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในพืชบางชนิด อย่างแอปเปิล, อาหารดิบ เช่น มันสำปะหลัง, บิทเทอร์อัลมอนด์(Bitter Almond) ส่วน sweet almond ที่นิยมกินไม่มีสารไซยาไนด์ตลอดจนเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
แพทย์หญิงณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้ากล่าวว่า “พิษไซยาไนด์ เป็นสารพิษร้ายแรงทำให้เสียชีวิตภายในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมง ถ้าสามารถวินิจฉัยได้ สามารถช่วยชีวิตได้ทันเนื่องจากมียาแก้พิษ (Antidote) โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถรับพิษได้ทั้งจากการหายใจ และดูดซึมทางผิวหนัง เยื่อบุ และทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว อาการเกิดภายในวินาทีหากได้รับทางการหายใจ ส่วนการกินหรือทางผิวหนังมีอาการหลังสัมผัสเป็นนาทีถึงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
พิษของไซยาไนด์จะเข้าไปยับยั้งการใช้พลังงานจากออกซิเจนของเซลล์ในร่างกาย จึงมีอาการคล้ายภาวะขาดออกซิเจนของอวัยวะต่างๆ การเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดสารพิษทำให้เลือดเป็นกรด อวัยวะเช่นสมองจะได้รับผลกระทบ ระบบหัวใจการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็วโดยผู้ที่ได้รับพิษของไซยาไนด์ โดยส่วนใหญ่อาการเริ่มจาก
- ใจสั่น กระวนกระวาย
- สับสน ปวดศีรษะ
- ซึมหรือชัก
- ความดันโลหิตสูงต่อมาหัวใจเต้นช้าและความดันตก
- การหายใจช่วงแรกจะเร็วแล้วช้าลงจนหยุดหายใจ
- ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพิษจึงควรถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
ผู้ได้รับสารพิษไซยาไนด์จะมีลักษณะพิเศษ คือ ผิวแดง (cherry-red) เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง หรือ ผิวม่วงคล้ำได้ ลมหายใจกลิ่นอัลมอนด์หากเกิดพิษจากการสูดดมสาร hydrogen cyanide กรณีที่ท่านรู้ตัวว่าสัมผัสไซยาไนด์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ พบผู้ที่ได้รับพิษไซยาไนด์สามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ดังนี้
- หากเกิดจากการสัมผัส รีบถอดชุดที่เปื้อนสารออก หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วที่สุด
- หากเกิดจากการสัมผัสทางผิวหนัง ให้ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ช่วยเหลือต้องสวมชุดและหน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง
- หากสัมผัสทางดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาอย่างน้อย 10 นาที
- “ห้ามใช้วิธีเป่าปาก”ควรทำ CPR แทน เพื่อป้องกันผู้ช่วยเหลือได้รับพิษ
- ห้ามล้วงคออาเจียนเนื่องจากไซยาไนด์ดูดซึมอย่างรวดเร็ว
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างเร็วที่สุด
แพทย์หญิงณัฐกานต์ กล่าวต่อว่า “การแก้พิษไซยาไนด์ แพทย์จะให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็น thiocyanateซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamineซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamineขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ การช่วยคนถูกพิษไซยาไนด์จึงห้ามช่วยหายใจแบบ mouth-to-mouth เพราะอาจได้รับพิษด้วย
ทั้งนี้ ผลของการได้รับพิษจากไซยาไนด์ หากรอดชีวิตจากพิษไซยาไนด์อาจมีผลต่อเนื่อง มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน เนื่องจากสมองส่วน basal ganglion ถูกทำลายถาวร” แพทย์หญิงณัฐกานต์ ทิ้งท้าย