สปสช. ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงรีบเข้ารับบริการ “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เผยหลังเริ่มให้บริการ 17 วัน มีประชาชนรับบริการฉีดวัคซีนฯ แล้วกว่า 1 แสนคน พร้อมเปิดข้อมูล รพ.ธัญบุรี รองลงมาเป็น รพ.สามพราน, รพ.ศรีสะเกษ, รพ.สุรินทร์ และ รพ.สงขลา ขณะที่ 5 จังหวัดฉีดวัคซีนสูงสุดได้แก่ กทม., ปทุมธานี, ชลบุรี, นครปฐม และ สงขลา
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการทั่วประเทศที่ร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประชากรกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมาถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมดลง จากภาพรวมของการให้บริการในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา จากการรายงานในระบบของ สปสช. (ข้อมูล ณ 17 พ.ค. 66) มีประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนฯ แล้วจำนวน 100,604 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.46 ของกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ เมื่อดูหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สูงสุด 5 อันดับแรก ปรากฏว่า รพ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้ให้บริการฉีดวัคซีนฯ แล้วกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดอยู่ที่จำนวน 4,118 คน รองลงมาคือ รพ.สามพราน จ.นครปฐม จำนวน 2,957 คน, รพ.ศรีสะเกษ จำนวน 1,455 คน, รพ.สุรินทร์ จำนวน 1,226 คน และ รพ.สงขลา จำนวน 1,187 คน
ขณะที่ข้อมูลรายงานการให้บริการระดับจังหวัด 5 อันดับแรก ของจังหวัดที่มีการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร มีประชาชนกลุ่มเป้าหมายรับบริการแล้ว 19,585 คน รองลงมาคือ ปทุมธานี จำนวน 6,162 คน, ชลบุรี จำนวน 5,267 คน, นครปฐม จำนวน 4,569 คน และ สงขลา จำนวน 3,550 ราย เมื่อเปรียบเทียบตามประชากรกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น พบว่ากลุ่มผุ้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนฯ มากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มผุ้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ขณะนี้เริ่มใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว ที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ในช่วงระยะเวลาอีกกว่า 3 เดือนจากนี้ ก่อนจะหมดเขตการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือก่อนที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่จัดเตรียมไว้ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามฤดูกาลจะหมดลง ขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้รีบมารับบริการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้ยังสามารถรับบริการฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประชาชนทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงก็สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน สามารถฉีดเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง
ทั้งนี้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่ หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทอง ได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ โดยดูรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค
นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช. ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด เปิดให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ขอย้ำว่าเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ โดยเข้าสู่ระบบเพื่อจองสิทธิฉัดวัคซีนฯ ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
ส่วนผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้
สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ แต่ท่านสามารถโทรนัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีนได้เช่นกัน ทั้งนี้การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการได้โดยตรง
สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี