สปสช. หนุนเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต ใช้กลไก กปท.ขับเคลื่อน ชะลอผู้ป่วยไตรายใหม่

www.medi.co.th

สปสช.สนับสนุนเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตใช้กลไก กปท. ขับเคลื่อนสร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพ ปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อชะลอผู้ป่วยไตรายใหม่ รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในการตัดสินใจแก่เพื่อนผู้ป่วยไตรายใหม่ถึงข้อดีข้อเสียของการบำบัดทดแทนไตทั้งแบบฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้อง


สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเชื่อมร้อยสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อนโรคไตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-11  มิ.ย. 2566 โดยมีสมาชิกเครือข่ายเพื่อนโรคไตจาก 6 ภูมิภาค พยาบาล ผู้ดูแล จิตอาสา และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 70 คนเข้าร่วมประชุม

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จุดประสงค์การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการและระหว่างผู้ป่วยโรคไตด้วยกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคไตและสังคมโดยรวม ขณะเดียวกัน ในเวทีประชุมครั้งนี้ได้รับฟังปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ การระดมสมองเพื่อเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบายในการผลักดันแนวทางการพัฒนาบริการแก่ผู้ป่วย และการกำหนดทิศทางการทำงานในการขับเคลื่อนร่วมกันในระยะ 3 ปีข้างหน้า


ด้าน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับโรคไตของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ในอดีตการขับเคลื่อนให้การบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะจากการวิจัยพบว่าเป็นบริการที่ไม่คุ้มค่าและยังระบุด้วยซ้ำว่าระบบบัตรทองจะล้มละลายภายใน 10 ปี อย่างไรก็ดีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในขณะนั้นขับเคลื่อนอย่างหนักในการผลักดันเพื่อทำตามหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพที่ว่าจะป้องกันการล้มละลายของผู้ป่วยและครอบครัว จนในที่สุดก็สามารถผลักดันให้การบำบัดทดแทนไตเป็นสิทธิประโยชน์ได้ และผ่านมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 16 ปีแล้ว ระบบก็ยังคงอยู่รอดได้


สำหรับสิ่งที่ สปสช. จะขับเคลื่อนในภาพรวมเกี่ยวกับโรคไตนั้น มี 3-4 ประเด็นคือ 1. ในมุมของประชาชน สปสช. เน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อช่วยกันชะลอจำนวนผู้ป่วยไตวายรายใหม่ ด้วยการกระตุ้น สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรับประทานหวาน มัน เค็ม แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับพฤติกรรม แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ


นอกจากการสร้างความตระหนักและปรับพฤติกรรมการบริโภคแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องค้นหากลุ่มเสี่ยงที่ใกล้เข้าสู่ภาวะไตวายด้วย  หลายคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองใกล้เป็นไตวายแล้ว ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้รู้สึกตัว เช่น ล่าสุดมีชุดตรวจโปรตีนในปัสสาวะซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยค้นหากลุ่มเสี่ยงในการเป็นโรคไตวาย หากได้เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ก็จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรับรู้ถึงสถานการณ์สุขภาพแต่ละคน และอาจนำไปสู่การตรุหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยรวมแล้วสิ่งที่กล่าวมานี้คือกระบวนการยืดเวลาให้ไตสามารถทำงานได้นานที่สุด


ขณะเดียวกัน ในมุมการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการ จะเน้นการทำระบบเบิกจ่ายให้ความรวดเร็ว คล่องตัว ถูกต้องและเป็นธรรม การทำความเข้าใจกับหน่วยบริการไม่ให้เกิดการเรียกเก็บเงินแบบไม่มีเหตุผลสมควร  


2.การสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านสุขภาพและการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไต เพราะปัจจุบันยังมีสัดส่วนการใช้เงิน กปท. เพื่อทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเกี่ยวกับโรคไตน้อยมาก คิดเป็น 0.6% จากเงิน กปท. ทั้งหมดประมาณ 2 พันล้านบาท เป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เช่น ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน หรือหน่วย 50(5) ชักชวนประชาชนในพื้นที่ ในการนำงบประมาณ กปท. มาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


3.การสร้างภาคีเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งใช้กลไก สปสช. เขต ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ


ผศ.ภญ.ยุพดี ยังได้ฝากถึงเครือข่ายผู้ป่วยในการร่วมขับเคลื่อนในหลายๆ ประเด็นดังกล่าวข้างต้น เช่น การร่วมขับเคลื่อนสร้างการตระหนักรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน ตลอดจนสร้างและขายเครือข่ายผู้ป่วยใตในแต่ละจังหวัดในการผลักดันการใช้งบ กปท. เพื่อสร้างความร่วมมือของเครือข่ายและคนในชุมชนในการปรับพฤติกรรมสุขภาพและการบริโภค ทั้งนี้ สปสช. พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นจากเครือข่ายผู้ป่วยและเชื่อว่าพลังเสียงของทุกคนมีความสำคัญในการพัฒนาระบบ