นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทยเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (Epinet) และระบบรายงานการเฝ้าระวัง (รง.506) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน มิ.ย.66 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 31 คน มากกว่าเดือน พ.ค.66 ที่พบผู้ป่วย 21 คน หรือเพิ่มขึ้น 0.5 เท่า ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 27 คน ชาวต่างชาติ 4 คน เป็นเพศชายทั้งหมด เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 30 คน และมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ร่วมด้วย 14 คน
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินระดับความเสี่ยง (Risk Estimation) ของโรคและภัยสุขภาพ พบว่า โรคนี้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง จำกัดวงในกลุ่มเฉพาะ และลักษณะการกระจายของโรคคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เนื่องจากการติดต่อต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่พบในกรุงเทพฯ ไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรง แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ประวัติเสี่ยงส่วนใหญ่คือ การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่รู้จักมาก่อนแบบ One Night Stan (ความสัมพันธ์แบบไม่มีข้อผูกมัด) มากที่สุด และมีประวัติไปสถานที่เสี่ยงที่เอื้อต่อการมีเพศสัมพันธ์แบบชายรักชาย รวมถึงกลุ่มที่นิยมการมีความสัมพันธ์กันแบบ One Night Stan อาทิ สวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ สถานประกอบการ เช่น ฟิตเนส ออนเซ็น ซาวน่า รวมทั้งการนัดพบบุคคลที่ไม่รู้จักผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ ทั้งนี้ กทม.ได้แจ้งสถานที่เฝ้าระวังผู้ป่วยเป็นกรณีพิเศษ อาทิ สถานพยาบาล ได้แก่ คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และคลินิก HIV ให้แจ้งผ่านระบบรายงานโรค รง.506 สถานประกอบการ โดยเฉพาะซาวน่าและสถานบันเทิงเฉพาะกลุ่มชายรักชาย ควรงดให้เข้าใช้บริการ และแจ้งต่อสำนักงานเขต หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่
นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์เน้นย้ำส่งเสริมความรู้ความเข้าใจลักษณะอาการของโรคให้แก่ประชาชน รวมถึงลักษณะการแพร่เชื้อ วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง และข้อควรปฏิบัติเมื่อพบอาการเข้าข่ายโรค หากมีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม โดยเน้นย้ำแม้มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิด อีกทั้งร่วมมือกับเครือข่ายด้านสาธารณสุข เช่น NGO สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา ซาวน่า ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ แนะนำการสังเกตอาการ และมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิงสำหรับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง และเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อ ผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงและเตรียมพร้อมแนวทางการป้องกันโรคของกรมควบคุมโรค หากมีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีลักษณะอาการ ดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1 - 3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออก อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดต่อไป