สปสช.แจงสิทธิ “ตรวจยีนมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยเสี่ยงสูง” ครอบคลุมดูแลคนไทยทุกสิทธิการรักษาแล้ว

www.medi.co.th

สปสช. เผย บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิการรักษา ปี 2566 มีผู้รับบริการคัดกรองแล้ว 420 คน ช่วยลดความเสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมที่เกิดจากยีนกลายพันธุ์ ขณะที่ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ชมรมศัลยแพทย์เต้านมแห่งประเทศไทย และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชวนแพทย์ผู้สนใจร่วมฝึกอบรม "Genetic counseling for Physician" ทั้งรูปแบบ online และ onsite  ในวันที่ 7 ก.ย. 66 เพื่อเป็นแนวทางให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วย เพิ่มศักยภาพการให้บริการของหน่วยบริการ เปิดลงทะเบียนแล้วถึง 5 ก.ย. นี้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็ง แต่การป้องกันก็เป็นนโยบายที่ สปสช. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกับโรคมะเร็งที่ป้องกันได้ ซึ่งในส่วนของมะเร็งเต้านมพบว่า ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเพิ่ม “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบให้กับคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์


สำหรับในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช. ยังคงดำเนินการสิทธิประโยชน์นี้ต่อเนื่อง ค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่ได้รับสิทธิบริการ คือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตามเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่


1.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี


2.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่อายุ 46-50 ปี ร่วมกับ มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งซ้ำหลายครั้ง หรือ มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตรของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) อย่างน้อย 1 คน ที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก


3.ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้


        3.1 มีประวัติญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก


        3.2 มีประวัติผู้ป่วยในครอบครัวอย่างน้อย 3 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม


        3.3 มีประวัติในครอบครัวสายตรงอย่างน้อย 2 คนที่เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก


        4.ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกช่วงอายุ ที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบ triple negative หรือเป็นมะเร็งเต้านมในผู้ชาย


ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากการดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ข้อมูลล่าสุด (8 สิงหาคม 2566) มีผู้ที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ภาพรวม 13 เขต ทั่วประเทศ จำนวน 420 คน ในจำนวนนี้เขต 13 กทม. มีผู้รับบริการมากที่สุด 197 คน รองลงมาเป็นเขต 9 นครราชสีมา และเขต 10 อุบลราชธานี เขตละ 55 คน เขต 8 อุดรธานี 54 คน และเขต 4 สระบุรี 22 คน


“จากข้อมูลข้างต้นนี้เป็นการให้บริการในช่วงของแรกของการให้บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2  ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในปี 2566 จึงทำให้มีจำนวนผู้รับบริการไม่มากนัก ซึ่งต้องย้ำว่าบริการตรวจคัดกรองนี้ เป็นสิทธิประโยขน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนบัตรทอง ที่มอบให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ ดังนั้นหากใครที่เข้าหลักเกณฑ์บริการข้างต้นนี้ ไม่ว่าจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลใดก็ตาม ก็สามารถรับบริการได้ รวมถึงหน่วยบริการที่หากพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก็สามารถให้บริการกับผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจาก สปสช. โดยตรง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 


ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังรับบริการตรวจคัดกรองฯ ในกรณีที่ผลตรวจพบว่ามีภาวะการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งภายใต้กองทุนบัตรทองครอบคลุมสิทธิประโยชน์ดูแล ส่วนแนวทางของการลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้น มีทั้งการผ่าตัดและการใช้ยาป้องกัน ซึ่งวิธีการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างและการกินยาต้านฮอร์โมนสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ทั้งนี้ตองให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและให้คำแนะนำประกอบกับสภาวจิตใจและการติดสินใจของผู้ป่วยเอง


สำหรับในด้านของการเพิ่มศักยภาพการให้บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ให้กับหน่วยบริการ ที่เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยนั้น เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และชมรมศัลยแพทย์เต้านมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดการฝึกอบรม "Genetic counseling for Physician" เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำปรึกษา และดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการตรวจ ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 นี้ ทั้งในรูปแบบ online และ onsite ณ ห้องประชุม อาคารสันทนาการชั้น 3 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยเปิดให้แพทย์ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนผ่านทาง QR code หรือที่ https://forms.gle/yDpmQCzi81yGhYkV8 จำกัดเฉพาะผู้ทีลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้ถึง 5 ก.ย. 66 เท่านั้น