โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เผยร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อตามมาตรา 7 หวังช่วยอำนวยความสะดวกผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้ได้รับบริการใกล้บ้านและช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลรัฐ
นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 ใน 17 โรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน สิทธิบัตรทอง ในพื้นที่ กทม. ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กล่าวถึงเหตุผลที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ตัดสินใจเข้าร่วมให้บริการในครั้งนี้ว่า เดิมทีโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทให้บริการคนไข้สิทธิบัตรทองอยู่แล้วประมาณ 1 แสนคน แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกสัญญากับ สปสช. ทำให้คนไข้ที่เคยรับบริการกับกล้วยน้ำไทมีปัญหาไม่ได้รับความสะดวก
นพ.สุวินัย กล่าวว่า คนไข้เดิมเหล่านี้ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในละแวกที่ตั้งของโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท เมื่อมีการยกเลิกสัญญา ทำให้ถูกย้ายไปขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลของรัฐซึ่งอยู่ไกลกว่าเดิม บางส่วนไม่สามารถหาหน่วยบริการทุติยภูมิได้ บางส่วนยังเป็นสิทธิว่างที่ยังหาหน่วยบริการลงไม่ได้ และอีกส่วนก็ถูกย้ายไปขึ้นทะเบียนกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทก็มีเครือข่ายคลินิกในระดับปฐมภูมิอยู่แล้ว เมื่อมีการส่งต่อก็จะส่งมาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ทำให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นที่ปกติก็มีความหนาแน่นอยู่แล้ว
“เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้ว โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยให้สามารถถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ ลดความแออัดของโรงพยาบาลของรัฐอีกด้วย”นพ.สุวินัย กล่าว
นพ.สุวินัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของความพร้อมในการให้บริการนั้น โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทมีความพร้อมอย่างเต็มที่เพราะเดิมทีก็ให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว ครอบคลุมบริการตั้งแต่อาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การรับส่งต่อจากคลินิกหรือโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีเตียงรองรับ โรคหัวใจ โรคประสาทและสมอง และสาขาอื่นๆ ทุกสาขา โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจะได้รับบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ และเท่าเทียมกับผู้ป่วยประกันสังคมและผู้ป่วยเงินสดที่จ่ายเงินเอง
“โรงพยาบาลเรารับทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคมและคนไข้เงินสดทั่วไป มาตรฐานการรักษาเท่าเทียมกัน เพียงแต่เรื่องห้องอาจจะต่างกัน เช่น สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมจะมีห้องรวมให้ แต่ถ้าอยากอยู่ห้องเดี่ยวก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นต้น แต่ในเรื่องการดูแลรักษา ผ่าตัด การให้ยา ทุกอย่างเหมือนกันหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน”นพ.สุวินัย กล่าว
นพ.สุวินัย กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากการแถลงความร่วมมือในครั้งนี้แล้ว สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือการที่ภาครัฐให้โอกาสโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้มากขึ้น เพราะคนไข้ไปหนาแน่นที่โรงพยาบาลรัฐเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่คนไข้บางส่วนอาจมีที่อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า จึงอยากให้กระจายผู้ป่วยมาให้โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือรัฐในการลดความแออัด
อนึ่ง มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ระบุว่า บุคคลที่ได้ลงทะเบียนแล้ว ให้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้จากหน่วยบริการประจำของตนหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง หรือจากหน่วยบริการอื่นที่หน่วยบริการประจำของตนหรือเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องส่งต่อ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้บุคคลนั้นมีสิทธิเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นได้ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยคำนึงถึงความสะดวกและความจําเป็นของผู้ใช้สิทธิรับบริการ และให้สถานบริการที่ให้บริการนั้นมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด