นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 และร่วมเสวนาเรื่อง “จากความมุ่งมั่น สู่ความสำเร็จ จากความสำเร็จ สู่ความยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการและ พิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ในปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ เป็นรางวัลสูงสุดของสำนักงาน ก.พ.ร. และรางวัล PMQA 4.0 ระดับพัฒนาจนเกิดผล รางวัลบริการภาครัฐระดับดีเด่น และระดับดี และรางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับดี เป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินการที่เป็นเลิศทั้งในด้านการให้บริการ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเปิดระบบราชการ ให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 7 ผลงาน แบ่งตามประเภทรางวัล ดังนี้
1) รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ หรือ รางวัล Super เลิศรัฐ โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 1 รางวัล เป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่มีความโดดเด่นได้รับรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นตันแบบที่สร้างคุณค่า ในการสร้างสรรค์ผลงานการปฏิบัติราชการจนมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน
2) รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ระดับดีเด่น ประเภทพัฒนาการบริการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ การพัฒนาระบบ e-Service การตรวจวิเคราะห์ (iLab Plus) แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว
3) รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริการ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นวัตกรรมชุดตรวจดีเอ็นเออย่างง่ายกับการพัฒนาบริการการตรวจวัณโรค โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และเขียงมะหาดจาก 100 บาท สู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร 100 ล้านโดย สถาบันวิจัยสมุนไพร
4) รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยโรคดาวน์ชินโดรมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แบบไร้รอยต่อของประเทศไทย โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์
5) รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ชุมชนต้านภัยสุขภาพ บ้านนาม่วงโมเดล โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี
6) รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ระดับพัฒนาจนเกิดผล (Significance) จำนวน 1 รางวัล
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ที่มาแห่งความสำเร็จในการได้รับรางวัลครั้งนี้คือความร่วมมือร่วมใจ จากทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัย ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประชาชนมีสุขภาพดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งทุกผลงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการให้บริการที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในระดับประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติราชการด้วยความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการบริการและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร เพื่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป