สุดปัง ! อย. คว้ารางวัลคุณภาพบริหารจัดการภาครัฐดีเด่น

www.medi.co.th

อย. คว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จาก ก.พ.ร. 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ระดับดีเด่น รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ระดับก้าวหน้า (Advance) และรางวัลบริการภาครัฐ พัฒนาการบริการ ระดับดี สุดปลื้ม ได้รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐครบทุกหมวดแล้ว พร้อมขับเคลื่อนองค์กรต่อไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการก้าวไกล ระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน


นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการนำเกณฑ์คุณภาพ การบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) มาดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการทำงาน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรภายในองค์กร ทำให้ อย. ได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2566 นี้ อย. สุดภาคภูมิใจที่สามารถคว้ารางวัลคุณภาพดังกล่าวได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ระดับดีเด่น และ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ระดับก้าวหน้า (Advance) รวมทั้ง รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดี จากผลงาน “อย. ของ่ายได้ที่บ้าน (FDA Smart Licensing)” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการทำงานที่ อย. นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการที่มาติดต่อขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ


ทั้งนี้ อย. ได้รับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐครบทุกหมวดแล้ว ได้แก่ 1. การนำองค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคม 2. การวางแผนยุทธศาสตร์ฯ 3. การมุ่งเน้นผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4. การวัด วิเคราะห์และจัดการความรู้ 5. การบริหารทรัพยากรบุคคล 6. กระบวนการคุณภาพและนวัตกรรม โดย อย. ยังคงยึดมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านกลไก “BETTER” (BCG Model, E-service, Technology for Life, Team Thailand, Empowerment และ Rapid Response) ซึ่งประกอบด้วยแนวทางหลัก เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพไทย การอนุญาตผลิตภัณฑ์ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส ได้มาตรฐานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างทีมประเทศไทยด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค รวมทั้งการยกระดับการเฝ้าระวัง การจัดการความเสี่ยงและการเตือนภัยที่ทันเหตุการณ์ เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่ผลสำเร็จสูงสุดในการทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการก้าวไกล ระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน