เผยปี 2566 ภาพรวมความพึงพอใจต่อระบบบัตรทองเพิ่มขึ้น

www.medi.co.th

สปสช. เผยผลสำรวจความพึงพอใจต่อการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 ชี้ภาพรวมคะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการและภาคีองค์กรเครือข่าย


 


พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้นำเสนอผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ให้บริการและองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อการดําเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 นำเสนอโดยกลุ่มภารกิจกำกับติดตามประเมินผล ซึ่งบอร์ด  สปสช. ได้รับทราบ ซึ่งผลการสำรวจความพึงพอใจในภาพรวมของปี 2566 เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของประชาชนผู้รับบริการมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจาก 97.69 เป็น 98.19 ส่วนผู้ให้บริการมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจาก 86.19 เป็น 91.27 และในส่วนขององค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นจาก 97.62 เป็น 97.84


ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ในส่วนของประชาชนมีความพึงพอใจในเรื่องการลงทะเบียนสิทธิย้ายหน่วยบริการแล้วได้สิทธิทันที นโยบายผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ นโยบายรักษาแบบผู้ป่วยในได้โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว และมีความเชื่อมั่นในแพทย์ผู้ให้การรักษาและทีมบุคลากร ส่วนประเด็นที่ยังไม่พอใจนั้น จะมีประเด็นการรอคิวนาน บริการล่าช้า ขั้นตอนรับบริการยุ่งยาก ผู้ให้บริการให้ข้อมูล/ตอบข้อสงสัยยังไม่ดี ไม่เต็มใจตอบ และอยากให้ปรับปรุงขั้นตอนการลงทะเบียนสิทธิให้ง่าย รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน

ส่วนในมุมของผู้ให้บริการ มีความพึงพอใจในนโยบายย้ายหน่วยบริการแล้วได้สิทธิทันที นโยบายผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ นโยบายรักษาแบบผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว แต่ยังไม่พึงพอใจในประเด็นเรื่องระบบการพิสูจน์ตัวตนยุ่งยากซับซ้อน เพิ่มภาระ ความเพียงพอของงบประมาณ การจัดสรรเงินยังไม่สะท้อนถึงต้นทุนการจัดบริการของหน่วยบริการ และมีข้อปฏิบัติยุ่งยาก เปลี่ยนแปลงบ่อย


ขณะที่ในมุมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความพึงพอใจในแง่ของการมีส่วนร่วมในการทำงานของ อปท. การสนับสนุนข้อมูล/ประสานงานของ สปสช. และกฎระเบียบของ สปสช. แต่ยังเห็นว่าควรปรับปรุงระบบการทำงานให้ชัดเจน เข้าใจง่ายสื่อสารให้ไปในทิศทางเดียวกัน และการบริการติดต่อที่รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มงบประมาณเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ให้มากด้วย


และในส่วนขององค์กรภาคีเครือข่าย มีความพึงพอใจในแง่ของการเปิดโอกาสให้องค์กรภาคีมีส่วนร่วม มีการสนับสนุนข้อมูลจาก สปสช. และพึงพอใจกับชุดสิทธิประโยชน์ที่ผู้รับบริการได้รับ แต่ยังอยากให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิประโยชน์ให้ทั่วถึง และอยากให้ทุกสิทธิควรมีความเท่าเทียมกัน ครอบคลุมการรักษาได้ทุกพื้นที่


พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงนำมาซึ่งข้อเสนอต่อการดำเนินงานเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในระบบบัตรทอง โดยในส่วนของประชาชนผู้รับบริการ เสนอให้สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้ในหน่วยบริการทั่วประเทศ และไม่กําหนดเวลาการใช้สิทธิ พัฒนาระบบการตรวจสอบสิทธิให้เสถียร รวดเร็วและการสื่อสารเรื่องการขยายสิทธิประโยชน์และข้อมูลอื่น รวมทั้งสนับสนุนการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลได้สะดวก รวดเร็ว และลดขั้นตอนลง รวมถึงระบบช่วยนัดหมาย


 


ด้านผู้ให้บริการ มีข้อเสนอให้จัดการระบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันการใช้สิทธิของผู้รับบริการ ให้ไม่ยุ่งยาก หรือไม่เป็นภาระผู้ให้บริการ พัฒนาช่องทางระบบสนับสนุนการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้กับหน่วยบริการ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาการจัดสรรและจ่ายเงินชดเชยให้รวดเร็ว ถูกต้อง และคืนข้อมูลให้หน่วยบริการ


ขณะที่ในส่วนของ อปท. มีข้อเสนอให้ สปสช. พัฒนาช่องทางประสานงาน บริการด้านข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับพื้นที่ มีการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีแนวทาง กฎระเบียบที่แน่ชัดไปในทิศทางเดียวกัน และในฝั่งขององค์กรภาคีเครือข่าย เสนอให้ สปสช. สนับสนุนการมีส่วนร่วมและเวทีแลกเปลี่ยน รวมถึงรับข้อมูลข่าวสารของกลุ่มองค์กรภาคี และปรับปรุงและพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมทั่วถึง