บอร์ด สปสช. เพิ่มสิทธิบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ กลุ่มผู้ต้องขัง 10 รายการ

www.medi.co.th

บอร์ด สปสช. เพิ่ม 10 สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มผู้ต้องขังทั่วประเทศ 270,000 ราย เผยเป็นบริการใหม่ 1 รายการ “บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” และ 9 รายการ ที่ขยายเพิ่มจำนวนครั้งรับบริการ พร้อมเดินหน้าปีงบประมาณ 2567 ช่วยดูแลผู้ต้องขังมีสุขภาพที่ดี

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ มีมติเห็นชอบ “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (เพิ่มเติม) สำหรับผู้ต้องขัง ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 10 รายการ เพื่อดูแลผู้ต้องขังให้เข้าถึงบริการตรวจสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร เป็นประธาน และนำเสนอโดย นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


        นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง นอกจากการเข้าถึงในด้านการรักษาพยาบาลแล้ว ยังเน้นการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยในปีงบประมาณ 2567  กรมราชทัณฑ์ได้เสนอขอขยายรายการบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมทั้งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองเศรษฐกิจและประกันสุขภาพ กองบริหารการสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อเสนอ พร้อมทบทวนรายการบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้ต้องขัง และนำเข้าสู่กระบวนการตามกลไกของ สปสช. โดยการพิจารณากลั่นกรองของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน ที่ได้เห็นชอบแล้ว จึงนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณา และมีมติเห็นชอบในวันนี้


        สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขัง 10 รายการ จะครอบคลุมการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 270,000 คน แบ่งเป็น รายการบริการใหม่ 1 รายการ คือ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ต้องขังจะได้รับบริการระหว่างต้องโทษ 1 ครั้ง และอีก 9 รายการ เป็นบริการเดิมโดยได้เพิ่มจำนวนครั้งของรับบริการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค ประกอบด้วย


1. บริการตรวจคัดกรองวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก  2. บริการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส  3. บริการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 4. บริการคัดกรองโรคไม่ติดต่อและปัญหาสุขภาพอื่นๆ  5. บริการด้านส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น การคัดกรองโรคซึมเศร้า บริการให้คำปรึกษา/เตรียมความพร้อมผู้ต้องขังป่วยจิตเวชก่อนปล่อย 6. บริการด้านทันตกรรมป้องกันและการเคลือบฟลูออไรด์


7. บริการคัดกรองโรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจและบริการสำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่ปฏิบัติงานด้านสูทกรรม จัดบริการปีละ 1 ครั้ง ได้แก่ 8. บริการคัดกรองโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร และ 9. การตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น การคัดกรองและตรวจโรคผิวหนัง ตรวจวัดสายตาเบื้องต้น


นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของงบประมาณเพื่อดำเนินการนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบแหล่งงบประมาณ ดังนี้ กรณีรายการบริการเดิมเพิ่มเป้าหมาย ให้ใช้งบประมาณจากรายการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปี 2567 โดยใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน ส่วนรายการบริการใหม่ คือ บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ใช้งบประมาณจากรายได้สูง(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม วงเงิน 33.032 ล้านบาท และมอบให้ สปสช. จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยบริการตามอัตราที่กำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการสิทธิประโยชน์นี้ต่อไป


        “ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งแต่เดิมมีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น แม้ว่าระบบบัตรทองจะให้สิทธิที่ครอบคลุมดูแลแล้ว แต่ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้  ซึงรวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และจากมติบอร์ด สปสช. ในวันนี้ที่จะเริ่มในปีงบประมาณ 2567 จะทำให้ผู้ต้องขังได้รับบริการเพิ่มเติมตามความจำเป็น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้ต้องขังในเรือนจำมีสุขภาพที่ดีขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว