กระทรวงสาธารณสุข จับมือ สสส. ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จัดนิทรรศการอาหารเป็นยา “อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา” สร้างกระแสให้ทั้งคนไทยและต่างชาติ หันมาใส่ใจในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะอาหาร จากสมุนไพรไทย สนับสนุนการสร้างมูลค่าทางธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการอาหารเป็นยาครั้งที่ 1/2566 ภายใต้แนวคิด “อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 12 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ภาคีเครือข่ายร่วมงาน พร้อมทั้งมอบป้ายโลโก้อาหารเป็นยา ให้กับสถานประกอบการ ทั้ง 20 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกผู้จำหน่ายอาหาร ที่มีเมนูสุขภาพจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ
นายสันติ กล่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านอาหารที่สร้างรายได้ให้กับประเทศนับแสนล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่าประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว ด้านอาหาร ถึง 20% ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.74% กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารเป็นยา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วย การบริโภคอาหาร นำไปสู่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ
“อาหารไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดรายการอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวไว้จำนวน 6 รายการ ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ส้มตำ มัสมั่น ต้มข่าไก่ และยังมีรายการอาหารไทยที่ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ผัดฉ่า เครื่องดื่มสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณตามรสยา เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และ บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น” นายสันติกล่าว
นายแพทย์สุรโชค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข สสส. ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการนำอาหารไทย สมุนไพรไทย มาช่วยสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายใต้แนวคิด “อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา” เป็นการสร้างกระแสให้ประชาชนหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักรู้ว่าอาหารไทย สมุนไพรไทยมีคุณค่า เป็นการผสม “ศาสตร์” การดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กับ “ศิลป์” ความพิถีพิถัน ความละเอียดอ่อนในการปรุงอาหาร ที่ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับอาหารไทย คาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงานประมาณ
5 -6 หมื่นคนต่อวัน
ด้านนายแพทย์ขวัญชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดกิจกรรมอาหารเป็นยาโดยนำร่องจังหวัดที่เป็นเมืองสมุนไพร อาทิ สงขลา อุดรธานี จันทบุรี สระบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงได้ร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มอบป้ายโลโก้ให้ผู้ประกอบการ สตรีทฟู้ด ร้านอาหารเครื่องดื่ม และโรงแรม แล้วกว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่ามีเมนูสุขภาพ ที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดสารพิษ เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวทีเสวนาวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กิจกรรมอาการเป็นยา เช่น กินยังไง? ไม่ให้ป่วย, กินสร้างสุข, กินลดโรค การออกร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่มจากชุมชนทั่วประเทศ