นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาวว่า สนอ.มีมาตรการเชิงรุกในการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ ให้คำแนะนำ และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว โดยทำหนังสือแจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูหนาว รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครอง นักเรียนในสถานศึกษา ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาและคำแนะนำแนวทางส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะสถานที่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น สถานศึกษา บ้านพักคนชรา
นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว ผ่านช่องทางสื่อสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น พร้อมทั้งจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาว รวมถึงจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันควบคุมโรค เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ง่าย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาว รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคอีสุกอีใส โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส และโรคโควิด 19 ให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง ยังให้บริการเชิงรุกในการให้ความรู้ เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรคในฤดูหนาวแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง
นอกจากนั้น ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ พร้อมแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วย 7 วิธีดูแลสุขภาพ เมื่ออากาศเย็นลง ดังนี้ รับประทานอาหารที่ปรุง สุก ใหม่ ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รับประทานผักผลไม้และสมุนไพรรสเปรี้ยวบรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เพราะอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และสวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือห่มผ้าช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน แต่หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง