กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนต้องสัยสัยว่าผสม ไซบูทรามีน ตรวจค้น 4 จุด จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย ตรวจยึดของกลาง 36 รายการ มูลค่ากว่า 7,000,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบัน กระแสผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนัก มีความหลากหลาย เป็นที่นิยม และเข้าถึงได้ง่ายในกลุ่มผู้บริโภค โดยอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตลักลอบผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1(ไซบูทรามีน) ไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อรับประทานแล้ว อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยตลอด ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักผสมไซบูทรามีน จำนวน 2 ยี่ห้อ ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก, จ.นครนายก, จ.นนทบุรี และ จ.สงขลา รวม 4 จุด รายละเอียดดังนี้
1. เครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ เอส เอส (SS)โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียน ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน บก.ปคบ. cppd 1135 ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เอส เอส (SS) ที่โฆษณาจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊คชื่อ “เกด เกด เกวรีณฐ์” เนื่องจากมีประชาชน รับประทานแล้วเกิดอาการใจสั่น มือสั่น ปวดศีรษะ จึงทำการตรวจสอบพบว่า ยังมีการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Lazada และ Shopee
เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อสั่งซื้อและนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1(ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ และกระจายสินค้า จากที่ตั้งสำนักงานซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มเครือข่ายผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำนวน 3 ราย ในข้อหา “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า” และตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุดดังนี้
1.1.) บริษัทผู้จัดจำหน่าย(เจ้าของผลิตภัณฑ์) ในพื้นที่ ต.วัดจันทร์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดพิษณุโลก เข้าทำการตรวจค้น พร้อมจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นกรรมการบริษัททั้ง 3 ราย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เอส เอส (SS) จำนวนหนึ่ง และกล่องเปล่าซึ่งคาดว่าเตรียมส่งให้โรงงานผลิตจำนวนกว่า 1,000 กล่อง
1.2.) โดยนอกเหนือจากกลุ่มผู้จัดจำหน่ายแล้ว ยังได้ทำการสืบสวนขยายผลไปยังโรงงานผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และได้นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้นโรงงานดังกล่าว ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อเอส เอส(SS) จำนวน 700 กล่อง (7,000 แคปซูล), แคปซูลบรรจุแผง 2,940 แผง (29,400 แคปซูล), กล่องเปล่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร SS จำนวน 1,900 กล่อง, ผงซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำหนัก 25 กิโลกรัม กาแฟฉลากระบุช่วยลดน้ำหนัก 2,700 ซอง, บรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งกำลังดำเนินการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ รวมของกลาง 13 รายการ มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท
อนึ่ง จากการสืบสวนเพิ่มเติมทราบว่า โรงงาน มีการสั่งวัตถุดิบซึ่งใช้ในการผลิต มาจากอำเภอหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินแจ้งข้อกล่าวหา และขยายผลจับกุมกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดต่อไป
2. เครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ เรฟฟิตมี (Levfitme)โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4
บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี (Levfitme) ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “ณัฐรินทร์ ธนาธนัตถ์กิตติ์” ( https://www.facebook.com/mookls ) ซึ่งประชาชนผู้ร้องเรียนได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานแล้วเกิดอาการปวดหัว เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเรง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้จำหน่าย และส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.ทำการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบสถานที่ผลิต บริษัทผู้จัดจำหน่าย และตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุดดังนี้
2.1.) สถานที่ผลิต บริษัท ลา พรีม ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน จำนวน 51 กล่อง,ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่นๆที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 130 กล่อง, ผงสารตั้งต้นซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต น้ำหนัก 11 กิโลกรัม และ แคปซูลเปล่า จำนวน 1,000 แคปซูล รวม 15 รายการ
2.2.) บริษัทผู้จัดจำหน่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรฟฟิตมี ต.หนองเพรางาย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง (ระบุส่วนประกอบไม่ตรงกับที่ขออนุญาตผลิต) จำนวน 10,305 กล่อง, ผลิตภัณฑ์สบู่และเครื่องสำอางที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 23,673 ชิ้น รวม 8 รายการ
รวมของกลางทั้งสิ้น 23 รายการมูลค่ากว่า 4,000,000 บาท
*รวมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน จำนวน 2 ยี่ห้อ ตรวจค้น 4 จุด จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 3 ราย ได้แก่ 1. นาง เกวรีณฐ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี, 2.นาย กัลปพฤกษ์(สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี และ 3. นาย เสาร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 71 ปี ดำเนินคดีข้อหา “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า” ตรวจยึดของกลางเป็น 1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบรรจุกล่อง(ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน) จำนวน 751 กล่อง, 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ เรฟฟิตมี ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง(ระบุส่วนประกอบไม่ตรงกับที่ขออนุญาตผลิต) จำนวน 10,305 กล่อง, 3. แคปซูลบรรจุแผง 2,940 แผง (29,400 แคปซูล), 4. ผงสารตั้งต้นที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต จำนวน 36 กิโลกรัม, 5. สบู่ และเครื่องสำอางที่ฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 23,673 ชิ้น, 6. แคปซูลเปล่า ฉลากและบรรจุภัณฑ์กว่า 3,900 ชิ้น รวมของกลาง 36 รายการ มูลค่ากว่า 7,000,000 บาท
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในเสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “ผลิตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า”, ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน“ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ. สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้มักพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือยาแผนปัจจุบัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว
ยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้
ขอย้ำเตือนประชาชนว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงมารับประทานเพื่อหวังผลตามกล่าวอ้างเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และ อย.ไม่อนุญาตการโฆษณา
ที่อวดอ้าง เป็นเท็จ หลอกลวงและเกินจริง หากพบจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาเกินจริงทุกกรณี
ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ควบคุมน้ำหนักควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่นเสริมอาหาร อาจมีผู้ประกอบการที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผู้บริโภคไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงซื้อมารับประทาน แล้วได้รับผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสุขภาพที่ดีต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และขอเน้นย้ำว่าไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ผู้ที่ลักลอบนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา