กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยสถานพยาบาลและสถานีตำรวจ สามารถส่งตัวอย่างได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การขับขี่รถขณะเมาสุราเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการทดสอบว่าผู้ขับขี่เมาสุราหรือไม่ ในกรณีผู้ขับขี่ที่รู้สึกตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ แต่บางรายอาจมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าผ่านเครื่องวัดฯได้ จะทำการเจาะเลือดส่งตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือนำส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อทำการเจาะเลือดภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุ หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดต่ำลง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยสถานพยาบาลและสถานีตำรวจสามารถส่งตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง) โดยในช่วงเทศกาลสามารถดำเนินการตรวจวิเคราะห์ และรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับตัวอย่าง นำส่งตัวอย่างได้ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. สำหรับตัวอย่างที่เกิดเหตุ และได้รับตัวอย่างระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึง 4 มกราคม 2567
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลผลการปฏิบัติงานการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด ปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 จำนวน 10,153 ราย เป็นชาย 8,807 ราย เป็นหญิง 1,342 ราย และไม่ระบุเพศ 4 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 7-92 ปี โดยในจำนวนนี้พบผู้ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จำนวน 1,080 รายรวมอยู่ด้วย จากจำนวนตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ พบว่า ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดหลายวัน มีการส่งตรวจวิเคราะห์สูงสุด ช่วงอายุของผู้ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดคืออายุระหว่าง 20-29 ปี และช่วงอายุระหว่าง 30-59 ปี พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด ในอัตราที่สูงกว่าช่วงอายุอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่าพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพและรถเก๋ง ตามลำดับ
“ด้วยความห่วงใย ขอฝากถึงประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด หรือเดินทางไปท่องเที่ยว ก่อนออกเดินทางให้เตรียมร่างกายให้พร้อม ขับขี่รถยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัย ขี่จักรยานยนต์ สวมหมวกกันน็อค ทุกครั้ง หากเดินทางระยะทางไกล ควรมีผู้ผลัดเปลี่ยนช่วยขับรถ เมื่อรู้สึกง่วงอย่าฝืนขับรถต่อ ให้แวะพักตามจุดพักรถ ปั้มน้ำมัน หรือจอดรถนอนในจุดที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ขอให้ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว