องค์การเภสัชกรรมแนะเตรียมยาจำเป็นก่อนการเดินทาง

www.medi.co.th

 องค์การเภสัชกรรม แนะควรเตรียมยาจำเป็น โดยเฉพาะยาผู้สูงอายุ ยารักษาโรคประจำตัว ก่อนการเดินทาง   เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมียาใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดการเดินทาง


                พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้ หลาย ๆ คนคงเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านหรือไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว ไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศ            สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และอยากเน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องเตรียมพกติดตัวไปด้วย นั่นคือ ยาจำเป็นที่ต้องใช้ในระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะยาของผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ถือว่าสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งยาของผู้สูงอายุจะมียาที่ต้องกินเป็นประจำ ต้องเตรียมยาในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทางหรือสำรองเพิ่ม 3-5 วัน และควรจะติดชื่อยาไปด้วยเพราะหากยาตกหล่นสูญหาย จะได้สามารถซื้อยาตัวเดิมหรือเข้าโรงพยาบาล แจ้งแพทย์ได้ว่าเดิมใช้ยาอะไร หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ควรเตรียมพกยาให้พร้อม เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ดังนั้นจะต้องมีการคำนวณการนำยาไปให้เพียงพอกับวันที่ไป แต่ทางที่ดีควรเตรียมให้เกินไปหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอาจทำให้ต้องอยู่ยาว  ไม่สามารถกลับตามวันที่กำหนดได้ จะได้มียาใช้ในการรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่อง


               ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปว่า ยาที่มีความจำเป็นต้องพกติดตัวไป ประเภทยารับประทาน  ได้แก่ ยาลดไข้          ยาแก้ปวด  ยาแก้เมารถ/เมาเรือ ยาแก้แพ้ ยาแก้ท้องเสีย หากระหว่างการเดินทางต้องเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวน   การกินอาหารที่ทำให้ท้องเสีย หรือมีอาการเมารถ/เมาเรือ อาการปวดหัว เป็นไข้ ท้องเสีย น้ำมูกไหล ไอ จาม ซึ่งเป็นอาการไม่รุนแรงสามารถกินยาบรรเทาอาการได้ นอกจากนี้ยังมีโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทางคือ โรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา และพักผ่อนน้อย อีกโรคที่จะพบมากสำหรับผู้หญิงก็คือ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาจไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ ทำให้ต้องกลั้นปัสสาวะ ซึ่งเป็นโรคที่พบมาก ก็ควรที่จะพกยาดังกล่าวติดตัวไปด้วย


                นอกจากนี้ควรที่จะพกยาใช้ภายนอกไปด้วย  เช่น ยาทาแก้แมลงกัดต่อย  ยาหม่อง ยาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยาดม ยาลม ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น ยาทาแผล พลาสเตอร์ปิดแผล สำลี  ผ้าก๊อซ เทปติดผ้าก๊อซ น้ำเกลือขวดเล็กสำหรับล้างแผล เป็นต้น เนื่องจากในระหว่างที่ทำกิจกรรม อาจจะโดนแมลงสัตว์กัดต่อย มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการเดินทางไกล ๆ หรือเกิดอาการคันตามร่างกาย  หรือเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยเกิดขึ้น เช่น หกล้ม มีดบาด การพกชุดปฐมพยาบาลติดไปด้วยก็จะช่วยให้ทำการดูแลแผลเบื้องต้นได้ก่อน   ถ้าอาการรุนแรงมากจึงค่อยไปหาหมอเพื่อทำการรักษาต่อไป