อย. เข้ม ตรวจสอบผักและผลไม้นำเข้า ตามมาตรการ ' Hold test release ' เพื่อสกัดกั้นผลไม้ไม่ได้มาตรฐานห้ามเข้ามาจำหน่ายในประเทศ

อย. ผลักดันโยบายเฝ้าระวัง กำกับดูแล ผักผลไม้ นำเข้าอย่างเข้มงวดตามมาตรการ Hold test release เพื่อสกัดกั้นการกักผลไม้นำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ห้ามเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยเด็ดขาด พร้อมแนวคิด 1DAAN/1LAB/1DAY บริหารจัดการด้านโลจิสติกส์การส่งตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์ผ่านห้องปฏิบัติการทราบผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่การเจรจาการค้าร่วมภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย


เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ นำไปทดสอบอย่างง่ายที่ห้องปฏิบัติการประจำด่านอาหารทั่วประเทศกว่า 15,400 ตัวอย่าง และมีการดำเนินคดีกับผู้นำเข้ากว่า 200 ราย จากข้อมูลดังกล่าวพบมีผัก ผลไม้นำเข้ามาในประเทศ พบการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชใน ผัก ผลไม้ ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ห่วงใยต่อกรณีดังกล่าว โดยให้ความสำคัญและความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้บริโภค ดังนั้น ในปี 2568 อย. จึงได้ยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยของผักและผลไม้ทั้งที่นำเข้าและปลูกในประเทศ กล่าวคือ ผักและผลไม้นำเข้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ การใช้มาตรการ Hold Test Release (HTR) กักหรืออายัดผักและผลไม้เพื่อทำการทดสอบ หากพบเป็นไปตามข้อกำหนดจะอนุญาตให้ไปจำหน่ายได้ พร้อมกับแนวคิด 1DAAN/1LAB/1DAY โดยบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของการส่งตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการเจรจาระหว่างประเทศคู่ค้าที่ส่งออกผักและผลไม้มายังประเทศไทยในการไปตรวจดูมาตรฐานของโรงคัดบรรจุและแหล่งผลิตเพื่อแก้ไขคุณภาพก่อนการนำเข้า ส่งเสริมให้ผู้นำเข้าตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ก่อนการนำเข้ากับห้องปฏิบัติการในประเทศต้นทางที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และจัดหาชุดทดสอบอย่างง่ายที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการพัฒนาสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา


รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ย้ำเตือนผู้บริโภคก่อนการบริโภคผัก ผลไม้ทุกครั้ง แช่ในน้ำสะอาดประมาณ 10 นาทีและล้างผ่านน้ำไหล จะช่วยลดปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ ทั้งนี้ อย.อยากจะเชิญชวนให้ผู้ประกอบการตลาดสดควรที่จะจัดโซนจำหน่ายผักและผลไม้ปลอดภัย และแสดงป้ายบอกให้ชัดเจนเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค อย. พร้อมดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยในการบริโภคผักและผลไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่นๆ อีกด้วย หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
******************************************************


วันที่เผยแพร่ข่าว 4 กันยายน 2567