เมื่อมี "แพทย์" ให้การรักษา ก็ต้องมี "พยาบาล" คอยเป็นผู้ช่วยดูแลผู้ป่วยเคียงข้างไม่ห่าง ด้วยบทบาทที่เชื่อมโยงส่งเสริมกันนี้ก่อให้เกิด "โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี" ขึ้นภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำหน้าที่ผลิตพยาบาลวิชาชีพมาทำหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่แพทย์ ซึ่งพยาบาลในทุกวันนี้ไม่ได้ทำเพียง "เพื่อผู้ป่วย" แต่ "เพื่อประชาชนคนไทยทุกคน" ให้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ภายใต้การบริหารโดย ผู้อำนวยการรองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ อดีตรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรของคณะฯ ผู้ร่วมบุกเบิก "รามาแชนแนล" (RAMA CHANNEL) ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเผยแพร่อยู่บนช่องเคเบิลทีวี ให้สามารถนำข้อมูลด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือมาเผยแพร่ให้ประชาชนเช้าถึงได้อย่างทั่วถึง โดยร่วมมือกับโทรทัศน์พื้นฐานหรือฟรีทีวี และต่อมาได้มีการขยับขยายเพิ่มช่องทางให้สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างให้ได้มากที่สุด ในรูปแบบของสื่อที่ได้รับความนิยมต่อมาตามยุคสมัย ได้แก่ ดิจิทัลทีวี และทางระบบออนไลน์ (ยูทูป) ตามลำดับ
มาในยุค COVID-19 แพร่ระบาด ที่ทำให้ระบบบริการสุขภาพแทบจะล่มสลาย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพิ่มบทบาทพยาบาลให้มากขึ้น ทำงานหนักมากขึ้น จากการพร้อมใจกันอุทิศตนเพื่อเป็น "ที่พึ่งของประชาชน" คอยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผ่านช่องทาง Call Center รวมทั้งการตอบคำถามสดผ่านสื่อโทรทัศน์ช่อง ThaiPBS โดยนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการระดมคณาจารย์พยาบาลมาผลัดเปลี่ยนกันคอยให้คำปรึกษาประชาชน เพื่อช่วยไขข้อข้องใจทั้งในเรื่องอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ทั้งทางกาย และทางใจ ตลอดจนช่วยประสานส่งต่อเพื่อให้ประชาชนได้เข้ารับการรักษาในภาวะฉุกเฉินอย่างครบวงจรและปลอดภัยที่สุด จนปัจจุบันได้เพิ่มช่องทางการให้คำปรึกษาทาง Line Official ตลอดจนได้มีการใช้เทคโนโลยี "แชทบอท" ช่วยในการสื่อสารและตอบคำถามประชาชนให้ได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด
"จากเดิมผู้ทำหน้าที่คอยตอบปัญหาสุขภาพทางสื่อต่างๆ มักจะเป็นแพทย์ แต่เมื่อยามเกิดวิกฤติ การริเริ่มให้คณาจารย์พยาบาลของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้ทางด้านสุขภาพผ่านทางช่องทางต่างๆ ถือเป็นมิติใหม่ที่ช่วยจุดประกายส่งต่อเป็นแนวทางให้คณาจารย์และพยาบาลวิชาชีพจากสถาบันอื่นมั่นใจที่จะจัดให้มีบริการประชาชนในลักษณะดังกล่าวต่อไปด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนได้มากขึ้น" รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ กล่าว
นอกจากการบริการให้คำปรึกษาทาง Call Center และ Line Official แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ยังร่วมมือกับกลุ่มเส้นด้าย จัดอบรมจิตอาสา COVID-19 ในกลุ่มผู้เคยติดเชื้อ ให้มีทักษะพร้อมกลับไปช่วยดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในชุมชน และได้ริเริ่มให้มีการอบรมพยาบาลทั่วไป ให้เป็น "พยาบาล ICU" เพื่อเสริมกำลังในยามฉุกเฉิน ซึ่งพยาบาลทั่วไปมีทักษะที่ดีในการดูแลผู้ป่วยอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่จะเพิ่มเติมด้วยทักษะการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ รวมทั้งทักษะการประเมินผู้ป่วย และทักษะการดูแลป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์ COVID-19 ต่อไปอีกด้วย
จากผลงานบริการประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ได้ส่งผลให้ รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ได้รับการประกาศจาก สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปภัมภ์ ให้ได้เข้ารับการเชิดชูเกียรติในฐานะ "คนดีศรีมหิดล" ในงานครบรอบ "53 ปีวันพระราชทานนามมหิดล 134 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล" 2 มีนาคม 2565 ในฐานะศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล และประเทศชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ มองว่า การจะทำให้ "พยาบาล" ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลประชาชน และทำประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ไม่แพ้วิชาชีพใดๆ ในโลกก็คือ จะต้องขยายขอบเขตบทบาทการทำงานของพยาบาลให้หลากหลายมากขึ้น ให้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพและสังคมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ซึ่งการ "ทำให้ดีที่สุด" อย่างที่ใครๆ กล่าวกันนั้นอาจยังไม่พอในสถานการณ์วิกฤติ อาจจะต้องทำให้ "ดีมากกว่าดีที่สุด" จึงจะสามารถสร้างสรรค์ ส่งต่อพลัง และมอบสิ่งดีๆ ให้กันต่อไปได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร